กรีนพีซเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษให้ประเมินผลและทบทวน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ระบุ Roadmap ไร้ทิศทางและสวนทางกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ


กรุงเทพฯ, 10 กันยายน 2564 – บทวิพากษ์ “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทย พ.ศ. 2561-2573” โดยกรีนพีซ ประเทศไทย [1] ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากการบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐ (publicity governance) และกระบวนการมีส่วนร่วมทางนโยบายของพลเมืองไทย (society and policy pathway consciousness) Roadmap การจัดการขยะพลาสติกนี้ยังขาดความมุ่งมั่นและไร้ทิศทางเพื่อต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติก และที่สำคัญ ยังสวนทางกับแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก พ.ศ. 2564-2573 [2] และเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พ.ศ.2608-2613 [3]

เป้าหมายการปฏิบัติการของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก [4] คือ เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (cap seal) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมของสารออกโซ(oxo) และไมโครบีด (microbead) ภายในปี 2562 และเลิกใช้ถุงหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติกภายในปี 2565 ขณะเดียวกัน นำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 และนำไปกำจัดด้วยการเผาเป็นพลังงาน

ข้อค้นพบหลักจากการวิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก มีดังนี้

  • Roadmap การจัดการขยะพลาสติกเป็นเพียงการสร้างสัญลักษณ์ (Rhetorical Symbols) ในทางสากลว่าประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงระดับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น Bangkok Declaration on Combating Marine Debris และ SDG12 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิต และการบริโภคที่ยั่งยืน รวมถึง SDG14 ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน แต่ขาดรูปธรรมและความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบาย สู่การปฏิบัติการภายในประเทศ
  • ผลที่คาดว่าจะได้รับใน Roadmap ระบุว่า จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี และเมื่อนำขยะพลาสติกไปเผาจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,830 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยที่ไม่กล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาขยะพลาสติก ข้อเท็จจริงคือ การเผาขยะพลาสติก 1 ตัน จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,890 กิโลกรัม CO2 เทียบเท่า ดังนั้น หากนำขยะพลาสติก 0.78 ล้านตันไปเผา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.26 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า หรือประมาณร้อยละ 11 ของการประมาณการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการจัดการของเสีย ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
  • ขาดรูปธรรม ไม่มีรายละเอียดสนับสนุนการขับเคลื่อนและหน่วยงานรับผิดชอบกำกับดูแลนโยบาย รวมถึงผู้ผลิตสินค้าว่าต้องดำเนินการหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (extended producer responsibility : EPR) การส่งเสริมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green consumption) และหลักการ Responsible Production ในที่ระบุไว้ใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างไร
  • ขาดการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ส่วนการกำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี และการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจะเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
  • ข้อมูลที่ระบุใน Roadmap การจัดการขยะพลาสติกไม่สะท้อนภาพรวมของทั้งประเทศ และ สถานการณ์และความรุนแรงของปัญหาในระดับพื้นที่ ถึงแม้ว่า กรมควบคุมมลพิษร่วมกับ สถาบันพลาสติกจะดำเนินการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูล Material Flow of Plastic ของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลปี 2561 และ 2562 ศึกษาวงจรพลาสติกผลิตภัณฑ์เป้าหมาย แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าวัสดุและขยะพลาสติกของแต่ละภาคส่วน และแต่ละพื้นที่มีขนาดของปัญหามากน้อยเพียงใด

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “Roadmap การจัดการขยะพลาสติกเป็นกรอบที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของไทยในระยะ 12 ปี แต่ขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี การปฏิบัติการในระยะต่อไปอีก 9 ปี ยังไม่ได้กำหนดกรอบปฏิบัติการ และความต่อเนื่อง ดังนั้น ก่อนที่ทำอะไรต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่กรมควบคุมมลพิษต้องทำการประเมินผล Roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยเปิดเวทีสาธารณะให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดนำเสนอกรอบแนวคิดของการประเมินผลอย่างเท่าเทียมกันเสียก่อน”

กรีนพีซ ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาสังคมกว่า 108 กลุ่มที่ร่วมรณรงค์ #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก

ในการวิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก กรีนพีซเรียกร้องให้ยกเลิกการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก พ.ศ. 2564-2573 และเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พ.ศ.2608-2613

หมายเหตุ :

[1] วิเคราะห์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกโดยกรีนพีซ ประเทศไทย https://www.greenpeace.org/thailand/publication/20908/2021-plastic-roadmap-report/

[2] https://www.onep.go.th/book/แผนที่นำทางการลดก๊าซเร/

[3] ดูเพิ่มเติมในแผนพลังงานชาติ http://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/petroleum/oil/link-doeb/item/17093-nep 

[4] http://pcd.go.th/Info_serv/File/Plastic%20Roadmap.pdf 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พรรณนภา พานิชเจริญ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทรศัพท์ 095-5853471
อีเมล pphanitj@greenpeace.org

ที่มา :  Greenpeace Thailand 10 กันยายน 2564

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com