โครงการ "ส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" (พ.ศ.2556 - พ.ศ.2558)


ภาคคมนาคมและขนส่งเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (IPCC, 2007) พบว่าภาคการคมนาคมขนส่งมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 13 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2543) ของประเทศไทย พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 27 ของภาคการผลิตและการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ภาคการคมนาคมขนส่ง(โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองใหญ่) เป็นภาคส่วนที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนสู่ระบบขนส่งสาธารณะ การใช้พาหนะที่ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นจักรยาน รถยนต์ไฮบริดจ์ รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อพิจารณาถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ที่มีเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงสะอาดนั้นย่อมต้องอาศัยเวลาและงบประมาณสำหรับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี แต่สำหรับการใช้จักรยานสามารถทำได้ในง่ายและรวดเร็วกว่า โดยไม่ต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีดังเช่นรถยนต์

ประโยชน์ของการเดินทางด้วยจักรยานส่งผลดีต่อสุขภาพที่ดีและลดค่าใช้ทางเศรษฐกิจแก่ผู้ใช้งานสำหรับมิติทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นผนวกกับการเติบโตและขยายตัวของเมืองใหญ่ย่อมก่อให้เกิดความหนาแน่นและคับคั่งของการจราจร การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรคับคั่ง ลดการใช้เชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลืองและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ข้อมูลจาก European Cyclist’s Federation พบว่าการใช้จักรยานนอกจากจะเป็นเดินทางที่ไม่พึ่งพิงการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนแล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 10 เท่าของการปล่อยจากการเดินทางโดยพาหนะส่วนบุคคลในขณะเดียวกัน เมื่อทำการศึกษาในประเทศเดนมาร์ก หากปรับเปลี่ยนการเดินทางด้วยจักรยานจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 12-26 ของเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการคมนาคมขนส่งของสหภาพยุโรป ในปี 2050 ทำให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนมาใช้จักรยานในการเดินทางส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อพิจารณาในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเอง ในร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556-2593 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดมาตรการการปรับปรุงทางเดินเท้าและกำหนดเส้นทางสำหรับรถจักรยาน ให้มีความปลอดภัยและต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มที่จอดรถจักรยานในแหล่งชุมชนเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยไม่ใช้ยานยนต์สำหรับการเดินทางระยะใกล้ๆ อันเป็นมาตรการหนึ่งสำหรับยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกัน ร่างยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) พ.ศ.2557-2561 ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดมาตรการรณรงค์และ สนับสนุนการใช้จักรยานในเขตเมือง ภายใต้แผนการพัฒนาคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กลไกการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้จักรยานสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่ การสร้างระบบสัญจร/เส้นทางจักรยาน/ที่จอดรถจักรยานที่เหมาะสมและปลอดภัย การออกกฎระเบียบและกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้รถยนต์และจักรยาน เครื่องมือ/กลไก/มาตรการสนับสนุนการใช้จักรยาน เช่นมาตรการภาษีที่เหมาะสม โครงการ Bike Sharing รวมถึงการสื่อสารและรณรงค์สร้างความตระหนักแก่ผู้ใช้จักรยานอย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการใช้จักรยานภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จึงควรอาศัยการกำหนดนโยบาย/ยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน/องค์กรที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศ ร่วมกับการมีเครื่องมือกลไก/นวัตกรรมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว

อีกด้านหนึ่ง ได้มีการขับเคลื่อนงานด้านจักรยานภายในประเทศ กิจกรรมความร่วมมือด้านภาครัฐ - เอกชน เช่น โครงการปันปั่น ซึ่งเป็นกิจกรรมการเช่า-ยืมจักรยานใช้บริเวณจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้า การขับเคลื่อนในภาคประชาสังคม เช่น โครงการปั่นเมืองของมูลนิธิโลกสีเขียว โครงการเดินไป-ปั่นไปของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และในปลายปี 2555 ที่ผ่านมาได้มีการเสนอเป็นมติสมัชชาสุขภาพเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันจากภาคประชาชน และในช่วงหลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นช่วงจังหวะที่ดีของการขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องจักรยานในระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติ เป็นการติดตาม ผลักดัน และสนับสนุนการแปลงนโยบายเรื่องการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าหลายคนรวมทั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพคนปัจจุบันได้ประกาศไว้ ให้แปลงไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้น และสนับสนุนการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงสร้างพลังทางสังคมเพื่อผลักดันการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการจัดทำ “โครงการส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ

1) คาร์บอนออฟเซตจากการเดินทางโดยจักรยาน (Smart Bike Carbon Offset) เป็นการผสานแนวคิดเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนให้มีคนเปลี่ยนมาใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยการพัฒนาระบบและอุปกรณ์สำหรับบันทึกและตรวจสอบระยะทางการเดินทางโดยจักรยานสำหรับกลุ่มผู้ใช้จักรยานในเมืองที่เป็นกลุ่มทดลองนำร่อง แล้วมีระบบการแปลงระยะทางที่เดินทางโดยจักรยานเป็นปริมาณการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล เป็นการรวบรวมเก็บบันทึกปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากเดินทางโดยใช้จักรยานและสามารถใช้ Carbon Offset เป็นส่วนลดสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะมีการคัดเลือกเฉพาะสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าสำหรับจักรยาน

2) การจำลองสถานการณ์ระบบการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Traffic Simulation) เป็นการพัฒนาการจำลอง (Simulation) สถานการณ์ของระบบการเดินทางด้วยจักรยานร่วมกับระบบการเดินทางรูปแบบอื่น เช่น รถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ และการเดิน เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ และภาพที่ชัดเจน หากมีการจัดสรรสัดส่วนพื้นที่ระบบการเดินทางบนถนนให้กับจักรยาน แสดงให้เห็นผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง ผลต่อการเพิ่มความเร็วของพาหนะ ผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดมลพิษทางอากาศ และจะนำผลที่ได้ของการจำลองสถานการณ์ไปแปลงเป็นสื่อแอนิเมชั่น (Animation) เพื่อการสื่อสาร สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้กำหนดนโยบายและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะในวงกว้างภายใต้กิจกรรมย่อยที่ 3 เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้น

3) การสื่อสารสาธารณะเป็นการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานในวงกว้าง โดยประกอบด้วยกิจกรรมประเมินเส้นทางจักรยานที่มีอยู่ในปัจจุบันของกทม. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงเส้นทางให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง และกิจกรรมการสื่อสารสองทางต่อเนื้อหาของกิจกรรมBike Carbon Offset, Bike Traffic Simulation และการประเมินเส้นทางจักรยาน กทม. เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้ใช้ถนนด้วยพาหนะต่างๆ, สื่อมวลชน) โดยมีรูปแบบการสื่อสาร เช่น โพล, การเผยแพร่ทางเวปไซต์, เวทีเสวนา, กิจกรรมเชิงกระตุ้นให้คนปั่นจักรยาน

กิจกรรมภายใต้โครงการจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเสริมหนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับสุขภาพต่อการส่งเสริมการเดินทางด้วยจักรยานเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการเดินทางด้วยจักรยานและผลักดันให้หน่วยงาน/ผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายขยายผลสู่การปฏิบัติอย่างแพร่หลาย สอดคล้องและส่งเสริมต่อยุทธศาสตร์ระดับประเทศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การรวมเครือข่ายองค์กร/หน่วยงานที่ขับเคลื่อนงานด้านจักรยานอย่างเป็นระบบ รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้ให้ผู้คนและสังคมต่อการพัฒนาระบบการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com