สารเคมีได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สารเคมีก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม สารเคมีสามารถก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกประเทศตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศมีความห่วงใยและได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาด้านสารเคมี โดยมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสารเคมีอย่างเป็นระบบ และปลอดภัย เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตและสิ่งแวดล้อม
จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย “สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา” (United Nation Conference for Environment and Development : UNCED) ครั้งที่ 1 (Earth Summit) ในปี พ.ศ.2535 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่ประชุมได้ให้การรับรอง แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในบทที่ 19 ของแผนดังกล่าวได้กล่าวถึงการจัดการสารเคมีเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้มีการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลสารเคมีสู่สาธารณะ อีกทั้งเสนอให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการสารเคมีให้เป็นไปอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำฐานข้อมูลสารเคมีและรายงานสถิติ แสดงปริมาณการปลดปล่อยสารเคมีและมลสารสู่สิ่งแวดล้อม ต่อมาในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2545 ที่ประชุมได้เสนอให้แต่ละประเทศจัดทำรายละเอียดการบริหารจัดการสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ก่อให้เกิดนโยบายใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับสารเคมีขึ้นในแต่ละภูมิภาคของโลก
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งล่าสุด จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 โดยใช้ชื่อว่าการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2012 (Rio+20) เป็นการประชุมครบรอบ 20 ปีของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้คือ ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และการยืนยันพันธะสัญญาทางการเมือง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการสารเคมีและของเสีย ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management: SAICM) อีกทั้งให้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างอนุสัญญาที่เกี่ยวกับสารเคมี 3 อนุสัญญา คือ อนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด อนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน โดยที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดแผนการจัดการสารเคมีระหว่างประเทศที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างอนุสัญญาทั้งสาม รวมทั้งยังมีมติให้กำหนดแนวทางการประเมินวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Approach: LCA ) กำหนดแนวทางการจัดการของเสียอิเล็กทรอนิกส์ และการกำหนดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินการกำจัดของเสียอันเกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนเอง นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในรายละเอียด เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในแต่ละประเทศ เช่น การกำหนดมาตรการจัดการกับการลักลอบกำจัดของเสียอย่างผิดกฎหมาย (Illegal dumping) การเข้าถึงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ของภาคประชาชน ข้อตกลงที่มีผลผูกพันตามกฎหมายเกี่ยวกับสารปรอท รวมถึงการสนับสนุนให้มีการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่สามารถปลดปล่อยสารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ที่มีผลต่อการทำลายชั้นโอโซนและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับประเทศไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และมีภารกิจในการอนุวัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่างๆ ว่าด้วยสารเคมีและของเสียอันตราย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนและติดตามมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับสารเคมีอย่างใกล้ชิด และครบถ้วน การประชุม Rio+20 ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดข้อบทและผลลัพธ์จากการเจรจา ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยงเข้ากับการดำเนินงานด้านสารเคมีของประเทศไทย ดังนั้นการศึกษา วิเคราะห์ ผลการประชุม Rio+20 นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการหาความเชื่อมโยงของผลการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการบริหารจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายภายในประเทศในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลในการวางแนวทางการจัดการสารเคมีและของเสียอันตรายของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกันทิศทางการจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นข้อมูลในการกำหนดภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีและการเจรจาในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 10 ปี ข้างหน้าต่อไป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี พิจารณาแล้วเห็นสมควรดำเนินโครงการวิเคราะห์ผลการประชุม Rio+20 ต่อแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของผลลัพธ์การประชุม Rio+20 ต่อการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมีของประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและของเสียอันตราย รวมทั้งข้อเสนอแนะ ภารกิจและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศต่อข้อตกลงระหว่างประเทศต่อไป