โครงการ "การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ชุมชนร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" (พ.ศ.2554 - พ.ศ.2556)


ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน เป็นรูปแบบหนึ่งขององค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชน ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการจัดการความรู้ของชุมชน เพื่อการเรียนรู้ปัญหาของชุมชน ทั้งในแง่การสำรวจสืบค้นให้เห็นสาเหตุต้นตอของปัญหา และนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อคิดค้น หาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดในฯ (พ.ศ.2555 -2556) เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาโดยการสนับสนุนงบประมาณหลักจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมีการสนับสนุนงบประมาณเสริมด้านการศึกษาทางวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยใช้กลยุทธ์การบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากภาควิชาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ด้านระบบนิเวศป่าชายเลน ด้านการกัดเซาะชายฝั่งและทรัพยากรชายฝั่ง และด้านพลังงานหมุนเวียน

การทำงานในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2555-2556) มีบทเรียนความสำเร็จของการดำเนินโครงการภายใต้ศูนย์เรียนรู้ คือ การบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของชุมชนและนักวิชาการ โดยแต่ละฝ่ายนำความรู้ของตนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความรู้ใหม่ที่ตอบโจทย์ทางวิชาการและตอบสนองแนวทางการแก้ไขปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้ว่าการผสานความรู้ทางวิชาการที่สอดรับกับความต้องการของชุมชนและสังคม เป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือสมาชิกของชุมชนบ้านเปร็ดในมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกสูงในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสาธารณะ จึงเป็นแรงผลักสำคัญให้ชาวเปร็ดในไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ของตน ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ศูนย์เรียนรู้ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในหลายด้าน ผลลัพธ์สำคัญของการดำเนินงานในแต่ละด้าน มีดังนี้

1. ด้านพลังงานทางเลือกของชุมชน : จากบทเรียนที่แต่เดิมชาวเปร็ดในเคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ มีการจัดตั้งคณะกรรมการพลังงานเพื่อรณรงค์ให้หันมาใช้พลังงานทางเลือก การแจกจ่ายแผงโซลาเซลล์ไว้ใช้ตามบ้านเรือน แต่เมื่อดำเนินงานไปช่วงระยะเวลาหนึ่งพบว่าการดำเนินงานเรื่องพลังงานยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากชาวชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่เพียงพอในเรื่องพลังงาน มีช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน เมื่อมีกิจกรรมในส่วนความรู้พลังงานชุมชนภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดในฯ มีการนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานโดยเน้นทางภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทำให้สมาชิกชุมชนที่มีความลังเลในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านพลังงานชุมชนในอดีตได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องพลังงาน ชาวเปร็ดในได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ผ่านกิจกรรมการเข้าร่วมอบรมและศึกษาดูงาน ทั้งในเรื่องพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ผลสำเร็จที่ได้คือชุมชนเกิดความสนใจที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการพลังงานชุมชน การจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานชุมชน การทำเตาชีวมวลแจกจ่ายให้กับสมาชิกชุมชนบางส่วน ตลอดจนสนับสนุนให้โรงเรียนบ้านเปร็ดในเป็นศูนย์นำร่องเรื่องพลังงาน โดยมีการติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อใช้เป็นไฟส่องทาง การใช้ก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารที่เหลือในโรงเรียน

2. ด้านการบริหารจัดการระบบนิเวศป่าชายเลน : ได้มีการศึกษาข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ในบริเวณป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับชุมชนในการตัดสินใจดำเนินการเพื่อการบริหารจัดการป่าชายเลน และแม้ว่ามีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจและดำเนินการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ มากมาย แต่ยังไม่มีการรวบรวมผลการศึกษาต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาช่วยในการวางแผนการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชน ชุมชนบ้านเปร็ดในจึงได้จัดทำแผนชุมชนด้านป่าชายเลน โดยมีแนวคิดที่จะดำเนินงานด้านการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรชีวภาพและสภาวะแวดล้อมของป่าชายเลนบ้านเปร็ดในโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนร่วมกับชุมชนในการจัดทำอนุกรมวิธานพันธุ์ไม้ป่าชายเลน สัตว์น้ำสำคัญ และการจัดทำนิทรรศการถาวรนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนของชุมชนไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดใน

3. ด้านการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งและการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง : นักวิจัยชุมชนได้ร่วมกับนักวิจัยในโครงการฯ ศึกษาสาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชุมชนบ้านเปร็ดในและศึกษาประสิทธิผลรูปแบบและแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของชุมชน ทำให้มีความสามารถในการประเมินประสิทธิผลของเต๋ายางในการลดพลังงานคลื่น ส่งเสริมการตกตะกอนด้านหลังแนวเต๋ายาง และเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง ตลอดจนสามารถจัดทำแนวปักไม้ไผ่ผสมแนวเต๋ายางบริเวณชายป่าชายเลน เพื่อทดลองและแสวงหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพของเต๋ายางรูปแบบเดิมในการลดการกัดเซาะชายฝั่ง

การดำเนินการดังกล่าวที่ผ่านมาประกอบไปด้วยการสำรวจภาคสนามร่วมกันระหว่างนักวิจัยในโครงการกับนักวิจัยชุมชน การปรับปรุงประสิทธิภาพของเต๋ายาง และการประมวลองค์ความรู้ร่วมกับชุมชน จนได้ผลเป็นองค์ความรู้ของนักวิจัยชุมชน ความรู้เกี่ยวกับสถานภาพทรัพยากรชายฝั่งได้แก่ แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์หน้าดิน และ สัตว์น้ำเศรษฐกิจในพื้นที่สาธิต รวมถึงการทดลองทำแนวปักไม้ไผ่ผสมแนวเต๋ายางต้นแบบบริเวณปากคลอง 7-8     

4. ด้านการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชน : การดำเนินงานด้านศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ผ่านมา เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ มีโครงสร้างของการบริหารจัดการศูนย์เรียนรู้ มีทีมนักวิจัยชุมชนที่มีความเข้าใจและสามารถเริ่มบูรณาการองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณของศูนย์เรียนรู้เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ ของศูนย์เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน และมีข้อจำกัดในด้านการสรุปถอดบทเรียนและถ่ายทอดความรู้ของทีมวิจัยชุมชน บุคลากรของศูนย์เรียนรู้ เพื่อแปลงเป็นสื่อรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการเผยแพร่ขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่องหลัก รวมทั้งการขยายผลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ไปสู่เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านวิชาการให้กับนักวิจัยชุมชนบ้านเปร็ดในและการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้องอาศัยระยะเวลาค่อนข้างมากในการปรับตัวร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับนักวิจัยชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และให้นักวิจัยชุมชนมีทักษะและเกิดความคุ้นชินต่อการใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการทำงาน

ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องอีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านเปร็ดในภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นสามารถก้าวเดินต่อได้อย่างมั่นคง มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ริเริ่มไว้ในระยะแรกได้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเองมากขึ้น และเพื่อเป็นการสานต่อกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 เรื่องหลักที่ได้จุดประกายความคิด ได้กระตุ้นให้สมาชิกชุมชนมีความตื่นตัวและมีความต้องการจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องพลังงานชุมชน เรื่องป่าชายเลน เรื่องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ เกิดผลสำเร็จในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของชุมชน ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรในชุมชน และเสริมสร้างสุขภาวะของชุมชน

เอกสารดาวน์โหลด

  1. 1-ปกรายงาน.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. 2-บทคัดย่อไทย.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  3. 3-Abstract.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  4. 4-กิตติกรรมประกาศ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  5. 5-คำนำ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  6. 6-สารบัญ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  7. 7-ch-1.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  8. 8-ch-2-2.1.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  9. 9-2.2 พลังงาน.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  10. 10-2.3 ป่าชายเลน.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  11. 11-2.4 กัดเซาะ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  12. 12-2.5 KM.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  13. 13-2.6 ศูนย์เรียนรู้.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  14. 14-ch-3 ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  15. 15-ภาคผนวก.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com