โครงการ "การศึกษามาตรการ Border Carbon Adjustment ในการลดโลกร้อน : มิติกฎหมาย" (พ.ศ.2553 - พ.ศ.2554)


มาตรการปรับค่าคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustments: BCA ) เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่เชื่อมโยงกับการย้ายฐานการผลิตสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเข้มงวดน้อย ในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Leakage) ซึ่งมาตรการดังกล่าวมุ่งบังคับใช้กับประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อควบคุมการผลิตสินค้าไม่ให้มีส่วนประกอบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสินค้าหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศในปริมาณที่สูงกว่าประเทศผู้นำเข้ากำหนด โดยอาศัยมาตรการการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศผู้ส่งออกที่มีระดับคาร์บอนแฝง (Embodied carbon) สูงกว่าประเทศผู้นำเข้า หรือการให้ประเทศผู้ส่งออกซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย (Off-set) ความต่างของระดับคาร์บอนแฝง มาตรการดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดภาระสูงขึ้นแก่ประเทศที่เป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ความผูกพันตามความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับในการเปิดเสรีการลงทุนทั้งในระดับทวิภาคี และ พหุภาคี อีกทั้งพันธะกรณีในการเปิดเสรีระดับภูมิภาคภายในอาเซียน ทำให้มีการรับการลงทุนอุตสาหกรรมในประเภทดังกล่าวมากขึ้นจากการโยกย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่พัฒนาแล้วมายังประเทศที่กำลังพัฒนา รวมทั้งในกรณีของประเทศไทยด้วย อีกทั้งมาตรการทางกฎหมายในการควบคุม หรือ กลั่นกรองการรับการลงทุนได้ถูกจำกัด หรือ ยกเว้นการปรับใช้มาตรการทางกฎหมาย กับนักลงทุนที่ได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภาวการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับ Carbon credit มากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการกำหนดนโยบายของประเทศ อีกทั้งภาคเอกชนไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่อาจจะถูกกระทบโดยมาตรการทางกฎหมายใหม่นี้ได้พึงเตรียมตัว รองรับการเปลี่ยนแปลง และ ปรับตัวรับกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทันท่วงที

จะเห็นได้ว่า มาตรการ BCA แม้จะเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า ลดแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เข้มงวดเท่า อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้ประกอบการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่มาตรการ BCA ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาได้ในด้านต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีแนวโน้มในการบังคับใช้มาตรการ BCA เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้มีร่างกฎหมายพระราชบัญญัติความมั่นคงและพลังงานที่สะอาด (The American Clean Energy and Security Act 2009) ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ BCA หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The Waxman-Markey Bill หรือ Cap-trade bill แม้พระราชบัญญัตินี้จะผ่านวุฒิสภาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึง ค.ศ. 2018 หรือหลังจากนั้น ส่วนสหภาพยุโรปแม้ว่าจะไม่มีร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีท่าทีว่าจะออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันออกมาบังคับใช้ด้วยเช่นกัน ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้จะศึกษา วิเคราะห์ถึงประเด็นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในระดับ ภูมิภาคและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมไทย

 กรอบการศึกษาวิจัยมุ่งเน้นในประเด็นต่อไปนี้ คือ

- การศึกษากลไกและวิธีการบังคับใช้มาตรการ Border Carbon Adjustments ของสหรัฐอเมริกา และ ประชาคมยุโรป เพื่อให้รู้ถึงผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ที่มีต่อการส่งออกของประเทศไทย

- ศึกษาประเด็นความสอดคล้องหรือขัดแย้งระหว่างมาตรการ BCA กับกฎระเบียบและมาตรการภายใต้ GATT/WTO เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการวางแนวนโยบายของภาครัฐ

- เพื่อติดตามความคืบหน้าทางด้านร่างกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับมาตรการดังกล่าวรวมถึงสารัตถะต่างๆ ว่าจะมีแนวทางอย่างไรและจะส่งผลกระทบในภาพรวมต่อประเทศไทยอย่างไร 

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com