โครงการ “การศึกษาทางกฎหมายและการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อม : กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” (พ.ศ.2550 - พ.ศ.2552)


โครงการวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษากฎหมายและพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจของการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยคำนึงถึงต้นทุนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจกำหนดนโยบายด้านการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตที่ครบถ้วนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

การวิจัยนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการเปรียบเทียบความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (MEAs) กับ ข้อบทของ JTEPA เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างความตกลงทั้งสอง สำหรับส่วนที่สอง เป็นการศึกษาผลกระทบด้านต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากความตกลง JTEPA โดยใช้ผลจากแบบจำลองแบบดุลยภาพทั่วไป GTAP ที่มีผู้ทำการประเมินผลทางการค้าและเศรษฐกิจเบื้องต้นอยู่แล้วมาทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์เป็นตัวแทน แบบจำลองใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติสำหรับประเมินค่าสัมประสิทธิ์ด้านการผลิต การบริโภค การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ของไทย จากนั้นสร้างแบบจำลองแบบพลวัตรเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตและรายได้ประชาชาติ สำหรับการประมาณการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้น อาศัยผลการวิจัย การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Live Cycle Assessment: LCA) ของคอมพิวเตอร์ มาปรับใช้กับผลการคำนวณปริมาณการผลิตคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

การวิจัยทางด้านกฎหมายพบว่า ไทยจะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเขตการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างการบังคับใช้กฎหมายภายใน กับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลง JTEPA ความตกลงดังกล่าวยังจะเปิดช่องทางให้มีการส่งสินค้าขยะเพื่อการกำจัดแฝงเข้ามาด้วยกับซากสินค้าใช้แล้วเพื่อการนำมาใช้ใหม่ เนื่องจาก ความตกลง JTEPA กำหนดให้สามารถนำเข้าสินค้าขยะมากำจัดในประเทศไทยได้ การนำเข้าขยะมีพิษดังกล่าวย่อมจะเป็นกลายเป็นภาระแก่ประเทศไทยในการกำจัด และก่อให้เกิดมลพิษ

การบังคับใช้กฎหมายไทยเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาจจะไปกระทบต่อการลงทุน ทำให้มีการตีความว่าเป็นการเวนคืนยึดทรัพย์ทางอ้อม นอกจากนี้การที่จะออกมาตรการของรัฐให้สอดคล้องกับ The Rio Declaration on Environment and Development (1992) ก็อาจจะกระทำได้ลำบาก เนื่องจากไปกระทบต่อต้นทุนการผลิต หรือ การบริหารจัดการของนักลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดข้อพิพาทได้ และนำไปสู่การยุติข้อพิพาทในอนุญาตุลาการ ซึ่งเสี่ยงต่อการที่รัฐจะแพ้คดีนักลงทุน

การยุติข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและนักลงทุน ในบางกรณีโดยเฉพาะกรณีที่กระทบต่อ นโยบายสาธารณะ จะมุ่งเน้นแต่ประเด็นการค้า การลงทุน และปัญหาเศรษฐกิจ โดยเน้นการเปิดเสรีเพียงประการเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงนโยบายสาธารณะ

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 17 ของมูลค่าส่งออกรวม และประมาณร้อยละ 10 ของ GDP สินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนเกือบถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด แนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้กระตุ้นการผลิตภายในประเทศ และก่อให้เกิดขยะ กากของเสียและมลพิษ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกระบวนการผลิตได้ในเวลาเดียวกันด้วย

จากการประมาณการด้วยแบบจำลอง พบว่าในสถานการณ์ที่ยังไม่มีผลของความตกลง JTEPA (ในกรณีฐาน) ปริมาณการบริโภคคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 ล้านเครื่องในปี พ.ศ.2556 (ค.ศ.2013) มลพิษหลายชนิดจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยจะมีการปลดปล่อยกากของเสียประมาณ 19.2-33.6 ล้านตันต่อปี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สร้างภาวะโลกร้อนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 99.5-173.7 ล้านตันต่อปี ส่วนมลพิษที่ทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดในอากาศนั้นมีประมาณ 8.1-8.9 หมื่นตันต่อปี นอกจากนั้นอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยังมีการสร้างสารมลพิษทางน้ำอีก 0.8-1.7 ล้านตันต่อปี ส่วนสารมลพิษที่มีผลต่อชั้นบรรยาศโอโซนอีกประมาณปีละ 2.25-4.94 หมื่นตันต่อปี

สำหรับผลการประมาณการกรณีที่มีความตกลง JTEPA เปรียบเทียบกับกรณีฐาน พบว่าปริมาณความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.14-1.03 ในช่วงปี พ.ศ.2553-2556) ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.87-6.44 ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.66-8.74 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตคอมพิวเตอร์รวมเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับการส่งออกในช่วงดังกล่าวเช่นกัน

ผลของการคำนวณต้นทุนการบำบัดมลพิษของแบบจำลอง พบว่าในกรณีฐาน ต้นทุนการบำบัดโดยรวมในปีแรกของการทำการประเมิน (พ.ศ.2547) นั้น ยังไม่สูงมากนัก แต่หากไม่ได้มีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ต้นทุนในการบำบัดก็จะสะสมมากขึ้นจนเพิ่มเป็นมูลค่าถึง 21.48 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 751.8 แสนล้านบาท ในปี พ.ศ.2556

เมื่อนำเอาผลจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการทำความตกลง JTEPA มาคำนวณ พบว่ามลพิษทุกตัวเพิ่มขึ้น JTEPA จะทำให้ต้นทุนการบำบัดมลพิษของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ โดยรวมเพิ่มขึ้นอีก 272 ล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ.2553 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.875 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ.2556 อย่างไรก็ดี real GDP ซึ่งเป็นผลสุทธิก็ยังคงเพิ่มขึ้นโดยตลอดและจะมีค่าประมาณ 1,046.27 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ.2556

การทำความตกลงการค้าเสรีที่เน้นแต่ผลทางด้านการค้า โดยมิได้พิจารณาว่าประเทศไทยนั้นยังได้มีการทำความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจมีข้อบทที่ขัดแย้งกันกับความตกลงการค้าเสรีได้ รวมทั้งอาจขัดแย้งกับการบังคับใช้กฎหมายภายในของไทยเองที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลเสียหายทั้งในแง่การบังคับกฎหมายและสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ตามมาได้อีกมาก

การเปิดการค้าเสรีตามความตกลง JTEPA ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ทำให้มีปริมาณการปลดปล่อยมลพิษต่างเพิ่มตามไปด้วย แม้ว่ามูลค่าสุทธิของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ของไทยในช่วงที่ทำการศึกษาดังกล่าวจะยังคงเป็นบวกและเพิ่มขึ้นจากความตกลง JTEPA ก็ตาม แต่การคำนวณดังกล่าวนั้นมีเพียงเฉพาะอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงภาคการผลิตเดียว หากเราสามารถคำนวณผลกระทบของภาคการผลิตอื่นๆ มาร่วมประกอบด้วย ก็ไม่แน่นักว่าผลประโยชน์สุทธิจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนหรือไม่

อย่างไรก็ดีการประเมินต้นทุนที่ได้ทำการประเมินในแบบจำลองนี้ ยังมิได้รวมถึงผลกระทบความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการสะสมทำลายสภาพแวดล้อม จนไม่สามารถบำบัดให้กลับคืนดีได้ และการประเมินดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอในการที่เชื่อมโยงผลของมลพิษดังกล่าว ที่อาจมีต่อสุขภาพของประชาชน และประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าต้นทุนดังกล่าวไม่มีอยู่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาต่อยอดงานในลักษณะนี้ต่อไปให้ครอบคลุมครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดังนั้นการพิจารณาความคุ้มค่าของการทำความตกลงการค้าเสรีโดยมิได้คำนึงถึงผลทางด้านสิ่งแวดล้อมดังที่มักทำกันอยู่ทั่วไปนั้น ย่อมจะเป็นการตัดสินใจที่ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะสรุปว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์สุทธิจากการทำความตกลงเหล่านั้นหรือไม่

งานวิจัยชิ้นนี้ประสพกับอุปสรรคค่อนข้างมาก จากปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลแทบจะทุกด้าน โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขาดการรวบรวมอย่างเป็นระบบและยังไม่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ยังขาดงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีของไทย รวมทั้งต้นทุนการบำบัดที่เหมาะสมกับกรณีของไทยทำให้ต้องใช้ผลการศึกษาจากต่างประเทศ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นของไทย และยังขาดข้อมูลที่เชื่อมโยงผลของมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลกระทบเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ข้างต้นให้ครบถ้วน และมีความยาวของข้อมูลที่เพียงพอต่อการใช้ในการประมาณการที่แม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องทำการศึกษาลักษณะเดียวกันนี้สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงด้วย เช่น อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ หรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงเพื่อให้การประเมินผลกระทบครบถ้วนยิ่งขึ้น

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com