โครงการพัฒนาศาสตร์การนำผลงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะไปใช้ประโยชน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม ประมวลและทบทวนแนวทาง ระบบ กลไกการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างกรอบแนวคิด วิเคราะห์ปัจจัยเกื้อหนุนหรือขัดขวาง และสังเคราะห์องค์ความรู้ และสร้างเครื่องมือเพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ด้านนโยบายสาธารณะ โดยคัดเลือก 8 กรณีศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะสำคัญด้านต่างๆ ทั้งงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ต่อสาธารณะ งานวิจัยที่ก่อประโยชน์การนำไปใช้ในระดับท้องถิ่นและงานวิจัยที่มีปัจจัยในระดับนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
สรุปผลเชิงวิเคราะห์ภายใต้กรอบแนวคิด “บทบาทของงานศึกษาวิจัย และปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการนโยบายสาธารณะ และสภาพแวดล้อมทางนโยบาย” ที่เป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อการนำผลงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะไปใช้ประโยชน์
1. ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “งานวิจัย (Research: R)” กับ “กระบวนการนโยบายสาธารณะ (Public Policy Process: PPP)” และ กับ “สภาพแวดล้อมทางนโยบาย (Policy Environment: PE)” พบว่า เกือบทุกกรณีศึกษาเป็นงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ในระดับนโยบาย ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ สำหรับกลไกการปฏิสัมพันธ์ของงานวิจัย (R) กับกระบวนการทางนโยบาย (PPP) และสภาพแวดล้อมทางนโยบาย (PE) นั้น งานวิจัยจะมีบทบาทมากในการสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่ทำให้ตัวกระทำทางนโยบายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายการเมือง ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เกิดความตระหนัก และเข้าร่วมในกระบวนการทางนโยบาย
2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “นักวิจัย” กับ “ตัวกระทำทางนโยบาย” (Policy Actor) ในกระบวนการนโยบายสาธารณะ (PPP) พบว่าบทบาทของนักวิจัยในกระบวนการนโยบายสาธารณะ มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญต่อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยยิ่งนักวิจัยมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการนโยบายสาธารณะมากเท่าใด ยิ่งเพิ่มโอกาสให้แก่การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
3.ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญที่มาจาก PE และ PPP ประกอบด้วย ปัจจัยที่มีผลกระทบทางบวกต่อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1) วิกฤต/ความรุนแรงของปัญหา 2) ข้อผูกพันจาก กติกา/กระแส/ความตกลงระหว่างประเทศ 3) การสนับสนุนจากตัวกระทำทางนโยบาย/ผู้บริหารระดับสูง 4) บทบาทของสื่อมวลชน 5) ความสนใจ/แรงผลักดันจากภาคการเมือง 6) กระแสการตื่นตัวของสังคม ในส่วนของปัจจัยที่มีผลกระทบทางลบต่อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ที่พบมากที่สุดได้แก่ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย อิทธิพลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ สถานการณ์ทางการเมือง การที่ประเด็นปัญหาอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน มุมมองของภาคการเมือง สื่อ และปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้
4.ระบบการบริหารและสนับสนุนงานวิจัย ปัจจัยที่จะมีผลสำคัญต่อการทำให้งานวิจัยมีคุณภาพ และเพิ่มโอกาสมากขึ้นต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัย การสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง การกำหนดและสนับสนุนให้เป็นการวิจัยแบบสหวิทยาการ การเชื่อมโยง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างทีมวิจัยกับตัวกระทำทางนโยบาย เพื่อที่องค์กรสนับสนุนทุนวิจัยจะได้รับความเชื่อถือและยอมรับในการทำบทบาทนี้ ในฐานะที่มีความเป็นกลางในทางการเมืองและผลประโยชน์ และการสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตื่นตัวต่อสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นทางนโยบายที่มีการวิจัย ช่วยทำให้เกิดประเด็นสาธารณะในเรื่องนโยบายนั้น
ข้อเสนอการออกแบบกระบวนการวิจัยเชิงนโยบายในอนาคต โดยพิจารณาจากปัจจัยที่มีผลต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ มีข้อเสนอแนะต่อการออกแบบกระบวนการวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะในอนาคต ได้แก่
1. Interaction with Government Model : ใช้รูปแบบ Government Lab หรือ Policy Lab หรือ Sandbox โดยมีการกำหนดโจทย์วิจัยร่วมกัน และให้ผู้จัดทำนโยบาย (Policy Formulator) เข้ามาร่วมเป็นนักวิจัย ทำงานร่วมกันแบบ Partnership ทำการวิจัยและทดลองปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีข้อยกเว้นหรือยืดหยุ่นกฎระเบียบ กฎหมายในรูปแบบของ Sandbox
2. Interaction with Social Movement Model : ใช้รูปแบบ Social Lab ให้งานวิจัยทำหน้าที่สร้างเสริมความรู้ เปิดหรือขยายโอกาสทางนโยบาย และเสริมสร้างความเข้มแข็ง (Empower) ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
3. พัฒนาและปรับปรุงระบบการทำงานของราชการเพื่อให้เอื้อต่อการทำงานวิจัยเชิงนโยบาย (Enabling Factor) อาทิ ปรับกระบวนการวิจัย การมีแหล่งทุนสนับสนุนทุนอย่างต่อเนื่อง การหาความคิด นวัตกรรม รูปแบบใหม่ๆ การพัฒนาผู้สังเคราะห์ (Integrator) ให้เกิดขึ้น เสนอให้เป็นบทบาทของ สกสว.และ วช. โดยอาจจะพัฒนามาจากนักวิจัยที่มีศักยภาพ หรือมีการเสริมสร้างศักยภาพในกระบวนการวิจัย