โครงการ "ส่งเสริมศักยภาพนักเศรษฐศาสตร์ในการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้บริบททรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" (พ.ศ.2549 - พ.ศ.2550)


โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใจถึงแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในบริบททรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสามารถนำเอาแนวคิดดังกล่าวมาบูรณาการร่วมกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยทำการสังเคราะห์องค์ความรู้จากการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่จากกลุ่มเป้าหมาย เช่น ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีกิจกรรมการอนุรักษ์เข้มแข็ง และนักวิจัยเห็นว่าเป็นตัวอย่างของการดำเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในบริบททรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการได้ทบทวนวรรณกรรมและศึกษาเปรียบเทียบหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืนในสองด้าน คือ ด้านเป้าหมาย และด้านเครื่องมือหรือกลไกในการจัดการทรัพยากร ในแง่เป้าหมาย ทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนในการตีความของนักเศรษฐศาสตร์เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังขึ้นอยู่กับสมาชิกในสังคมเป็นผู้กำหนดคุณค่า ส่วนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับความสมดุลในมิติต่างๆ และไม่ได้ใช้เกณฑ์ต้นทุนผลประโยชน์ในการหาระดับความสมดุล แต่ถือหลักการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมจึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง

ในแง่วิธีการ เครื่องมือ หรือกลไกไปสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจพอเพียงนั้นให้ความสำคัญกับปัจจัยภายใน คือ วิธีคิด ระบบคุณค่า “การระเบิดจากภายใน” คือการเกิดความรอบรู้และคุณธรรมในระดับปัจเจกหรือครอบครัวและชุมชน ที่จะดำรงชีวิตบนทางสายกลาง ไม่ทำลายธรรมชาติ ในขณะที่แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับสถาบันภายนอก คือ กลไกราคา และระบบกรรมสิทธิ์ ฉะนั้น หากกลไกราคาและระบบกรรมสิทธิ์บกพร่องจะมีผลทำให้การจัดการทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ยั่งยืน

โครงการฯได้เลือกศึกษาสองพื้นที่ คือป่าชุมชน บ้านละหอกกระสัง ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และป่าชายเลนในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน ที่บ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีนักวิจัยอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องพื้นที่ละ 1 คน เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน (ช่วงเดือนเมษายน 2550) การศึกษาในพื้นที่กรณีศึกษา ใช้กรอบการวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงในระดับชุมชน ประกอบด้วยสามส่วน คือ (1) การวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงเชิงระบบ คือ พิจารณาปัจจัยนำเข้า (ความรู้ คุณธรรม) กระบวนการ (ทางสายกลาง คือ พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน) และผล (ความยั่งยืน) (2) การวิเคราะห์การผลิต การบริโภค และการแลกเปลี่ยนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3) การวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงในมิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับชุมชน ซึ่งเป็นกรอบการวิเคราะห์ที่เสนอโดยโครงการ โดยพิจารณาว่าการอนุรักษ์ สัมพันธ์กับการผลิตและการบริโภค ภายใต้ระบบคุณค่า (ที่ประกอบด้วย คุณธรรม และความพอประมาณ) ซึ่งระบบคุณค่านี้สามารถเกิดจากกระบวนการเรียนรู้หลากหลายช่องทางอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นการระเบิดจากภายในหรือการหยั่งรู้ด้วยตนเองถึงการใช้ชีวิตอย่างพอประมาณควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างและควบคุมกติการ่วมกันของคนในชุมชน

เอกสารดาวน์โหลด

  1. 1-ปกรายงานสภาวิจัย.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  2. 2-คณะทำงาน.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  3. 3-กิตติกรรมประกาศ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  4. 4-สารบัญ.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  5. 5-บทสรุปผู้บริหาร(ไทย).pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  6. 6-executive summary.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  7. 7-บทที่ 1.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  8. 8-บทที่ 2.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  9. 9-บทที่ 3.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  10. 10-บทที่ 4.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  11. 11-บทที่ 5.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  12. 12-บทที่ 6.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  13. 13-บรรณานุกรม.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  14. 14-ปกภาคผนวก.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
  15. 15-ภาคผนวก ถอดเทป.pdf ดูเอกสาร / ดาวน์โหลด
สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com