สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เรื่องท่าทีไทยและร่างปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration) สำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้องช่วงที่ 1



คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ (ทส.) เสนอ ดังนี้

                  1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

                  2. เห็นชอบในการรับรองร่างปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration) โดยไม่มีการลงนาม

                  3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration)

                  ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขท่าทีไทย และร่างปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration) ดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่ จนสิ้นสุดการประชุมในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านระบบประชุมทางไกล

                  สาระสำคัญ

                  1. ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 (CBD COP 15) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 1 ประเทศไทยจะแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนร่วมกับประชาคมโลก ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ โดยมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อลดภัยคุกคามและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ทั้งนี้ จะต้องไม่ขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ กฎหมายภายในประเทศ นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้ง ระเบียบวิธีปฏิบัติอื่น ๆ ภายในประเทศด้วย โดยที่การดำเนินการในเรื่องการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพรวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ จะต้องไม่นำไปสู่ข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศด้วย

                  โดยร่างปฏิญญามีสาระสำคัญ เช่น 1) สนับสนุนการดำเนินการตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 เพื่อฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2030 และสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. 2050 2) ส่งเสริมการบูรณาการคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพในการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบาย การวางแผน กฎระเบียบ และเสริมสร้างกลไกประสานความร่วมมือการดำเนินงาน 3) จัดทำและปรับปรุงแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์และการจัดการเชิงพื้นที่ด้วยระบบพื้นที่คุ้มครองและมาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องชนิดพันธุ์และลดภัยคุกคามที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ 5) การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยุติธรรมจากการใช้ทรัพยากรณ์พันธุกรรม 6) การระดมทรัพยากรการเงิน การเสริมสร้างสมรรถนะและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

ที่มา : http://www.thaigov.go.th

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com