ผลกระทบ COVID-19 ต่อ 'สิ่งแวดล้อม'


เมื่อโควิด-19 เข้ามา ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจน คือผู้คนออกจากบ้านน้อยลง รวมถึงการทำกิจกรรมและกิจการบางส่วนต้องหยุดชะงัก และกลายเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งคุณภาพอากาศและน้ำ แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นผลร้ายตอปริมาณขยะพลาสติกและหน้ากากอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น

 สถานการณ์โควิดส่งกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มาตรการปิดประเทศหรือปิดเมืองที่ส่งผลให้ไม่สามารถเดินทางไกลและท่องเที่ยวได้

 การปิดกิจการของบางธุรกิจ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรม การเว้นระยะทางสังคม รวมทั้งการชะลอการบริโภคเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลาย ตลอดจนการปรับตัวทำงานที่บ้านและประชุมออนไลน์ ล้วนส่งผลทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก

 ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ (Air Quality) เป็นมิติหนึ่งที่มีข้อค้นพบเบื้องต้นออกมาค่อนข้างมาก โดยทั่วไปพบว่า มาตรการการปิดเมืองได้ส่งผลให้เกิดการลดกิจกรรมเศรษฐกิจและขนส่งลง จึงส่งผลให้คุณภาพทางอากาศดีขึ้น

 เช่น มลพิษทางอากาศในประเทศจีนฝั่งตะวันออกได้ลดน้อยลง ประมาณการว่าค่าออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ลดลง 50% ระหว่างวันที่ 23 ม.ค. (ซึ่งเป็นวันที่เมืองอู่ฮั่นเริ่มปิดเมือง) ถึงวันที่ 9 ก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

 นอกจากนี้ยังพบว่าการห้ามเดินทางและมาตรการกักตัวส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในประเทศจีนลดลง 25% ซึ่งผลจากมลพิษทางอากาศที่ลดลง นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าสามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ประมาณ 7.7 หมื่นรายในจีน

 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ยังพบอีกว่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกของสถานการณ์โควิดในประเทศจีน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้ระดับมลพิษลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่นที่ลดลง 25-40%

 และยังพบอีกว่าปริมาณการปล่อยมลพิษกลับมาเพิ่มขึ้น 26% ในช่วงวันที่ 10 ก.พ.ถึงวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่เริ่มกลับมาทำงาน สอดคล้องกับข้อวิจารณ์ที่ว่าการลดของการปล่อยมลพิษทางอากาศของจีนอาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม หากจีนต้องการกลับไปเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับเดิม

 ในส่วนของอิตาลี องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) สังเกตว่าระหว่างวันที่ 1 ม.ค.ถึง 11 มี.ค.ที่ผ่านมานี้ การปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากรถยนต์ โรงไฟฟ้าและโรงงานในบริเวณ Po Valley ซึ่งตั้งอยู่ทางภูมิภาคทางตอนเหนือของอิตาลีได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการปิดเมืองในภูมิภาคดังกล่าว

 ในด้านคุณภาพน้ำ พบว่าในหลายพื้นที่คุณภาพน้ำดีขึ้นจากกิจกรรมการเดินทางทางน้ำและกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางน้ำลดลง 

 เช่น ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี พบน้ำในคลองสะอาดขึ้นและมีความใสสะอาดจนสามารถมองเห็นปลาและแมงกะพรุน ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากการลดการจราจรทางเรือ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มีสัญญาณให้เห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติฟื้นตัวในหลายจุดโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ภายหลังการท่องเที่ยวที่ซบเซาลง กลับพบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บนชายหาดแถว จ.พังงาและภูเก็ต อย่างมาก

 ส่วนในด้านขยะ พบว่าการใช้หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นมากส่งผลให้เพิ่มปริมาณขยะขึ้นทั่วโลก โดยในประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้ข้อมูลว่าปริมาณขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพิ่มสูงขึ้นแล้วกลายเป็นขยะพิษหรือขยะติดเชื้อ โดยมีปริมาณการทิ้งเพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศประมาณ 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งมีทั้งหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งอย่างถูกวิธี ผ่านการคัดแยกขยะแล้ว แต่ก็ยังมีขยะหน้ากากอนามัยที่ทิ้งไม่ถูกวิธีปะปนกับขยะชุมชนทั่วไปด้วย

 นอกจากนี้ จากการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ช่วยเว้นระยะห่างทางสังคมก็พบว่าขยะพลาสติกที่เคยลดลงไปจากการรณรงค์และการห้ามใช้ในช่วงต้นปี ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการสั่งอาหารรูปแบบเดลิเวอรี่ที่สร้างขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 15% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน จากปกติประเทศไทยผลิตขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 5,500 ตันต่อวัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นถึง 1,500 ตันต่อวัน

 การระบาดของไวรัสยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การประชุมทางไกล การทำงานที่บ้าน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ รวมถึงการใช้พลังงาน สำหรับในไทย

 ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ได้แสดงภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียม Suomi Npp ระบบเวียร์ (VIIRS) บันทึกภาพทุกค่ำคืนในช่วงเวลา 01.00-02.00 ของไฟกลางคืน ช่วงตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า

 สังเกตได้ชัดเจนว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าจากทุกภาคส่วนในยามค่ำคืน ทั้งจากการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม กลุ่มธุรกิจต่างๆ และระบบไฟฟ้าสาธารณะ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลต่อระดับการใช้พลังงานต่างๆ ลดลงตามไปด้วย และเป็นส่วนสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงาน ลดการก่อมลพิษ เป็นผลดีต่อระบบสิ่งแวดล้อมได้มีโอกาสฟื้นฟูสภาพจากกิจกรรมของมนุษย์

 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลดลงชั่วคราวในการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก แต่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศก็เตือนว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เกิดการชะลอลงของการลงทุนในพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมและการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในปีนี้ได้เลื่อนออกไปเป็นปีหน้า และสถานการณ์โควิดยังจำกัดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาที่จะมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

 ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านประเทศและโลกสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากในอนาคต 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 มิถุนายน 2563

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com