คำนำ
ประเด็นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ากลไก “เรดด์พลัส” (REDD Plus) กลายเป็นประเด็นร้อนของการเจรจาจัดทำระบอบระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลังปี ค.ศ.2012 เป็นประเด็นข้อถกเถียงโต้แย้งสำคัญเรื่องหนึ่งระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งเป็นข้อถกเถียงระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ทั้งในเรื่องการกำหนดขอบเขตความหมายของกิจกรรมเรดด์พลัส การกำหนดตัวเลขเป้าหมาย เรื่องกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมเรดด์พลัส เป็นต้น
สำหรับกรณีประเทศไทย เรื่องเรดด์พลัสเป็นประเด็นเจรจาที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการจัดเวทีอภิปรายในหลายครั้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาคชุมชนท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนมีความห่วงกังวลต่อการใช้มาตรการเรดด์พลัสที่จะมีผลกระทบทำให้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน-ป่าของประเทศไทยมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น และอาจกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้เพื่อผลักดันชุมชนออกจากป่า ในกรอบการเจรจา COP15 ของประเทศไทยที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อปี ค.ศ. 2009 จึงยังไม่ได้กำหนดท่าทีของประเทศที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเรดด์พลัส
จนถึงขณะนี้ การเจรจาเรื่องเรดด์พลัสยังไม่ได้ข้อสรุปยุติโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องกลไกทางการเงิน และแม้ว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติแล้ว การจะเข้าร่วมกลไกเรื่องเรดด์พลัสหรือไม่นั้น ต้องเป็นการตัดสินของแต่ละประเทศอีกครั้งเนื่องจากได้ข้อยุติจากการเจรจาชัดเจนแล้วว่าเรดด์พลัสเป็นกลไกแบบความสมัครใจ งานศึกษาวิจัยที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนดำเนินการในช่วงเวลานี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูล ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องเรดด์พลัสในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน และใช้ความรู้จากผลการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยให้เกิดความรู้เท่าทันประเด็นการเจรจา เพื่อการร่วมเจรจากำหนดออกแบบกติกาของกลไกเรดด์พลัสให้มีความเหมาะสม และมีความเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจเข้าร่วมกลไกเรดด์พลัสในอนาคตของประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย