พลาสติก 102 : ความลับของระบบรีไซเคิล


ในยุคที่ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใคร ๆ ต่างตระหนักถึง หลายประเทศออกกฎหมายเพื่อควบคุมพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงในประเทศไทยที่ภาครัฐเริ่มรณรงค์ให้ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หยุดการแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า รวมถึงล่าสุดที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ลดและเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร (ไม่รวมโฟมที่ใช้กันกระแทกในภาคอุตสาหกรรม) แก้วพลาสติกความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก(ซึ่งมีข้อยกเว้นสำหรับการใช้ในกรณีจำเป็น ได้แก่ การใช้ในเด็ก คนชรา ผู้ป่วย เป็นต้น) แต่ยังไม่มีการพูดถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งในปัจจุบัน แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ต่างนำเสนอ ระบบรีไซเคิล ที่อ้างว่าจะเข้ามาช่วยให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมานั้นหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

Recycling Center in South Korea  Seungchan Lee  Greenpeace© Seungchan Lee / Greenpeace

ระบบรีไซเคิลนี้จะช่วยให้เราแก้ปัญหามลพิษพลาสติกได้จริงหรือ?

คำตอบก็คือ ระบบรีไซเคิลเข้ามาช่วยเราได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยที่ผ่านมาไทยมีสถิติการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์น้อยมาก ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าในปี 2561 มีขยะพลาสติกเพียง 500,000 ตันเท่านั้นที่เข้าสู่ระบบรีไซเคิล จากขยะทั้งหมด 27.8 ล้านตัน และมีขยะนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องถึง 7.15 ล้านต้น ซึ่งทำโดยการเทกองและเผากลางแจ้ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้มากว่าขยะที่เราพยายามแยกในครัวเรือนเหล่านั้นกำลังตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่ระบบรีไซเคิลได้เพียงอย่างเดียว เรายังจำเป็นต้องลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งผู้ผลิตจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อรอยเท้าพลาสติก (plastic footprint) ที่พวกเขาทิ้งเอาไว้อย่างจริงจังด้วยการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งรวมทั้งเลิกผลักภาระมาให้ผู้บริโภค

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลัง Green Washing หรือการทำการตลาดเพื่อให้พวกเรา “เชื่อ” ว่าแบรนด์ของพวกเขาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบรีไซเคิล และนี่คือความลับของระบบรีไซเคิลที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่เคยบอกเรา

*พจนานุกรมเคมบริดจ์ ให้ความหมายของศัพท์ Green Washing เอาไว้ว่า “คือการทำให้คนเชื่อว่าแบรนด์ของคุณเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าความเป็นจริง”

From Collecting Plastic Waste to Sorting in South Korea  Soojung Do  Greenpeace© Soojung Do / Greenpeace

1.เมื่อแบรนด์ฉวยโอกาสคว้า “ระบบรีไซเคิล” ทำให้ภาพลักษณ์ดูดี

ระบบรีไซเคิลกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคที่ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งยกขึ้นมาอ้างว่าตัวเองได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในช่วงเวลาที่เราเริ่มเห็นว่าหลอดพลาสติก ขวดพลาสติก หรือถุงพลาสติกตกค้างอยู่ในมหาสมุทรและทำร้ายสัตว์ทะเล ในตอนนั้นมันกลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้แบรนด์รอดตัวจากข้อครหาว่าเป็นผู้ก่อมลพิษหลัก (ภาษาอังกฤษที่ใช้เท่ ๆ กันคือคำว่า Big Polluter) หลังจากผู้บริโภคเริ่มลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วเริ่มตั้งคำถามว่า “ถ้าอยากกินขนมแบรนด์นี้ เครื่องดื่มของแบรนด์นี้ ฉันจะทำยังไงให้สามารถกินอาหาร ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ได้โดยไม่สร้างขยะพลาสติก?” ในตอนนั้นระบบรีไซเคิลก็กลายมาเป็นข้ออ้างของอุตสาหกรรมทันที ในการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าพวกเขาสร้างขยะได้ เพราะขยะชิ้นนั้นผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ ซึ่งมันไม่จริง! เพราะมีขยะพลาสติกเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล

เราไม่ได้มองว่าระบบรีไซเคิลคือตัวร้าย แต่เรามองว่าตราบใดที่เรายังไม่สามารถจัดการให้ขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบรีไซเคิลได้ทั้งหมด ขยะที่แม้ว่าจะผลิตจากพลาสติกที่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้ ก็ยังคงหลุดรอดออกสู่ระบบนิเวศ การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งออกมาเรื่อย ๆ เพื่อหวังว่าพวกมันจะเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้เองก็ไม่สามารถทำให้เราแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกได้

2.ระบบรีไซเคิลจะไม่เวิร์ค ถ้ายังจัดการระบบไม่ดีพอ

ในขณะที่อุตสาหกรรมพลาสติกต้องการให้ผู้บริโภคคิดว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมากสามารถรีไซเคิลได้ แต่จริง ๆ แล้วพลาสติกทั้งหมดที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 กลับถูกนำมารีไซเคิลน้อยกว่า 10% โดยส่วนที่เหลือถูกนำไปเผา ถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ หรือปล่อยทิ้งกลายเป็นมลพิษในสิ่งแวดล้อม

ในช่วงเวลาที่เรายังไม่สามารถนำขยะพลาสติกทุกชิ้นเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้ 100 % เราจำเป็นจะต้องนำหลักการอื่น ๆ เข้ามาช่วยเพื่อลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หลักการ 7R (Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ก็คือ การลดขยะให้มากที่สุด และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนมีขยะไปสู่หลุมฝังกลบน้อยที่สุด

หลักการ 7R สำหรับผู้บริโภคแล้วสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงแบรนด์อุปโภคบริโภคที่สามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ ปรับใช้เป็นวิธีลดขยะพลาสติกในห่วงโซ่การผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้น้อยที่สุด และจัดการให้บรรจุภัณฑ์จากสินค้าของตนเองเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้ได้ 100%

ปัจจุบันมีการกล่าวถึง “หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility : EPR) เราจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า EPR หลักการนี้คือหลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ, กระจายสินค้า,​ การรับคืน, การเก็บรวบรวม, การใช้ซ้ำ, การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ก้าวไปไกลมากกว่าเพียงแค่การสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่พวกเขาสามารถลดมลพิษพลาสติกได้จริงนั่นเอง

3.การลดการผลิตพลาสติกชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากกว่าการรีไซเคิล

ใครเคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมถุงผ้าต้องพิมพ์แคมเปญรณรงค์เช่น “ลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน” อะไรทำนองนี้ไหมคะ? ความจริงก็คือ มลพิษพลาสติกมีความสัมพันธ์กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการผลิตพลาสติกนั้นมาจากผลพลอยได้ของปิโตรเลียมซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ข้อมูลจากสำนักข่าว the Guardian ระบุว่ามีบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมันกว่า 20 แห่งคือผู้ก่อมลพิษหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยตั้งแต่ปี 2508 บริษัทเหล่านี้ปลดปล่อยก๊าซไปกว่า 35% ของการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก  

การผลิตพลาสติกทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้เชื้อเพลิงจะลดลง ในปี 2560 ที่ผ่านมา น้ำมันดิบ 50% ถูกกลั่นและนำไปใช้ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันในรถยนต์ แต่เมื่อเกิดเทคโนโลยียานพาหนะไฟฟ้าสำหรับขนส่งมวลชนขึ้น นั่นหมายความว่าความต้องการใช้น้ำมันจากเดิมก็จะลดลง แนวโน้มที่เกิดขึ้นทำให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลหันไปสนใจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเริ่มสนใจการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลจึงหันไปใช้ปิโตรเลียมผลิตพลาสติกมากขึ้น

มลพิษพลาสติกดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการเกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ คล้ายกับเป็นปัญหาที่ถูกแยกออกมาต่างหาก แต่จริง ๆ แล้วการแบ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมออกเป็นข้อ ๆ ขาดจากกันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งที่เราต้องปรับเปลี่ยนนั่นคือเปลี่ยนมุมมองของเราต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันและมีปัจจัยรอบด้านเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าที่เราคิด

4.เปลี่ยนจาก CSR เป็น EPR สร้างความรับผิดชอบและภาพลักษณ์ที่ดีให้แบรนด์อย่างแท้จริง

เพราะเพียงการทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดีขึ้น ด้วยการโปรโมทเกี่ยวกับระบบรีไซเคิลไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถแก้ไขมลพิษพลาสติกและวิกฤตสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ได้จริง ล่าสุด 188 องค์กรทั่วโลกรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ยุติการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและการบริโภคตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่แท้จริง

ทางออกของวิกฤตมลพิษพลาสติกมีหลากหลาย อาทิ ระบบใช้ซ้ำและรีฟิล(Reuse and refill systems) บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% ที่มาพร้อมกับระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ไม่ให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ใช้พลาสติกน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกที่แบรนด์สามารถนำไปปรับใช้ สร้างระบบตาม หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมรวมทั้งยังก้าวไปพร้อม ๆ กับผู้บริโภคในการลดใช้พลาสติกได้จริงอีกด้วย

Recycling Center in South Korea  Seungchan Lee  Greenpeace© Seungchan Lee / Greenpeace

ที่มา : Greenpeace Thailand 3 มีนาคม 2021
โดย : Supang Chatuchinda

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com