ปัญหาขยะ ตบมือข้างเดียวไม่ดัง


คอลัมน์ Inside Out story

โดย วิทวัช เนตรแสนสัก

 ต้องบอกเลยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หลังจากภาพสัตว์ทะเลต้องตาย เพราะกินขยะเข้าไปเป็นจำนวนมาก หรือแม้ภาพแพขยะขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่กลางท้องทะเล จนกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพฤติกรรมการทิ้งไม่เป็นที่เป็นทางของคน ตลอดจนการจัดการที่ไม่ถูกหลัก จนทำให้ขยะเหล่านั้นไหลลงไปสู่ทะเล

ทั้งนั้นยังมีการระบุว่า ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตันต่อปี และส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างมากมาย เป็นวงกว้าง จนทำให้หลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยได้มีการร่วมกันรณรงค์ จัดแคมเปญ จัดกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนัก ในการร่วมกันลดปริมาณขยะ การทิ้งให้ถูกที่ ถูกถัง การลดการใช้ถุงพลาสติก และหันมาใช้ถุงผ้าแทน และในที่สุดรัฐบาลได้มีการประกาศให้การกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม หากลองย้อนกลับไปเมื่อราว 10-15 ที่ผ่านมา หรืออาจจะมากกว่านั้น ประเทศไทยมีการรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ตาวิเศษเห็นนะ” หรือแม้กระทั่งการรณรงค์ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก และหันมาใช้ถุงผ้าแทน ซึ่งถือว่ามีการใช้อย่างแพร่หลาย

แต่เพราะเหตุใด วันนี้ ปัจจุบันนี้ ขยะจึงยังเป็นปัญหาอยู่ ?

และเมื่อไม่นานมานี้เอง ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน “SD Symposium 2018” ที่จัดโดยเอสซีจี และในงานดังกล่าวได้มีการเสวนาหัวข้อ “Circular Waste Value Chain” ที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกันพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับการจัดการขยะในประเทศไทย

จากการเสวนาทำให้รู้ว่า ภาครัฐได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะหลายฉบับ และมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แต่ไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเก็บขยะ

ส่วนการเก็บขยะของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่กว่า 7,851 แห่ง กลับพบว่ามี อปท.ถึงกว่า 3,000 แห่ง ที่ไม่มีรถเก็บขยะ เนื่องจากกว่าร้อยละ 70 ของ อปท.มีรายได้น้อย และไม่ได้รับเงินอุดหนุนที่เพียงพอ ที่สำคัญ ยังพบว่ามีสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องกว่า 2,810 กอง

ตรงนี้เองถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ จึงทำให้ สถ.ได้มีการรณรงค์ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ใหม่” ที่คัดแปลงมาจาก 3Rs โดยให้อปท.เชื่อมโยงชาวบ้านให้เกิดการคัดแยกขยะ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งตลาดนัดขยะ ผ้าป่าขยะ เพื่อให้เกิดกลไกการจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเพื่อการรีไซเคิล การเปลี่ยนจากถังขยะมาเป็นถุงขยะ “from bin to bag” เพื่อให้มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง รวมถึงการสร้างชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ หรือ “fast track to zero waste”

ขณะที่ภาคเอกชนมองว่า การจัดการบรรจุภัณฑ์ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และต้องทำให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกและผู้รับซื้อของเก่า ตลอดจนโรงงานรีไซเคิล ในการสนับสนุนสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดวงจร CLP (closed loop packaging) ในการกำจัดขยะ ที่ไม่ใช่การทำลาย แต่เป็นการจัดการปัญหาที่ได้ผลตอบแทน ซื่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าว ทุกฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกันว่า ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น วงจรที่สำคัญมาจาก “ผู้บริโภค” และการจัดการขยะต้องไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน โดยเฉพาะการจัดการที่ต้นทาง ด้วยการสร้างจิตสำนึกให้กับผู้บริโภค ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และที่สำคัญ ภาครัฐต้องมีการดำเนินงานที่ชัดเจน ทั้งการกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การจัดการขยะเกิดผลเป็นรูปธรรม

ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมามีภาคเอกชนหลากหลายบริษัทที่ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้น ทั้งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่ได้ทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thai-land ในการนำเอาขยะพลาสติกมารีไซเคิล แปรรูปเป็น เสื้อผ้า, รองเท้า และกระเป๋า ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกแล้ว ยังเป็นการจัดการปัญหาขยะในท้องทะเลอีกทางหนึ่งด้วย

อีกทั้งยังมีการต่อยอดมาเป็นโครงการ Upcycling Plastic Waste โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอเปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MQDC มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC-Research & Innovation for Sustainability Center) และ PTTGC ในการร่วมกันพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ทำมาจากพลาสติกที่ใช้แล้ว ด้วยนวัตกรรม upcycling ซึ่งในขั้นแรกจะทำเป็นอิฐปูทางเท้า ที่มีส่วนผสมของพลาสติกถึงร้อยละ 50

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-น้ำอัดลม โดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ยังได้ร่วมกับภาครัฐในการประสานงานให้สมาชิกของสมาคมเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแคปซีลได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งยังได้มีการยื่นเรื่องกับหน่วยงานภาครัฐในการขอแก้ไขกฎหมายเพื่อนำขวดพลาสติกที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled PET-rPET) มาใช้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เลย

จนล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ร่วมกับกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาในประเทศไทย และ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส ประกาศความร่วมมือกันในการผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET มาใช้ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ทันสมัย ซึ่งทำให้พลาสติกรีไซเคิลมีความสะอาดและปลอดภัย

ตรงนี้ทำให้เห็นความตั้งใจจริงของภาคเอกชน ในการจัดการและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ที่เป็นปัญหาใหญ่ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคเอกชนจะดำเนินการรุดหน้าไปมากน้อยเพียงใดก็ตาม หากข้อกฎหมายไม่อัพเดต หรือเอื้อต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

หรือแม้กระทั่งการดำเนินงานของภาครัฐที่ไม่ใช่เพียงแค่การประกาศให้การกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงการทำงานยังมีความซ้ำซ้อน ทับซ้อนกันหลากหลายหน่วยงาน รวมถึงความชัดเจนในการดำเนินงาน การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ตบมือข้างเดียวยังไงก็ไม่มีวันเสียงดัง” ครับ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2561

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com