การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม


     มิติด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมอาเซียนได้บรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมอยู่ในเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม มีการจัดทำเป็นพิมพ์เขียว (Blueprint) ด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน แต่ยังเป็นที่รับรู้ในวงจำกัดและยังมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามพิมพ์เขียวในระดับค่อนข้างต่ำ ในระยะหลังจึงมีเสียงเรียกร้องว่าควรมีการแยกเรื่องสิ่งแวดล้อมออกมาเป็น “เสาหลักที่สี่” ของประชาอาเซียน เพื่อยกระดับการให้ความสำคัญมากขึ้น สร้างการรับรู้และความตื่นตัว ที่สำคัญ การตามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเยียวยาผลกระทบในภายหลังจะมีต้นทุนสูงมาก ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายประเภทก็ไม่อาจฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมได้
     ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมีหลายประการ หลายหน่วยงานได้เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สำหรับในด้านการศึกษาวิจัย มีงานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ตัวอย่างงานศึกษาที่มีอยู่ เช่นการศึกษาผลกระทบจากกรณีระเบียงเศรษฐกิจ East-West Economic Corridor และ South Economic Corridor การศึกษาเปรียบเทียบมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน และการศึกษาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เช่น การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน งานศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นแง่มุมหลายด้านในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยควรตระหนัก และใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขข้อบกพร่องและจุดอ่อนของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งการทำงานศึกษาสร้างความรู้เพิ่มเติม
     ในด้านแรก การเปลี่ยนแปลงของอาเซียนที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงต่อมิติด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีในสองรูปแบบควบคู่กันและเสริมต่อกัน ได้แก่ (หนึ่ง) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างประเทศ ตัดข้ามประเทศ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทรัพยากรน้ำ ฯลฯ (สอง) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านกฎระเบียบและกฎหมาย เนื่องจากการต้องมีการปรับแก้ไขและปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการค้า การบริการและการลงทุน ทั้งที่เป็นความตกลงในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และความตกลงที่ทำกับนอกกลุ่มประเทศอาเซียน 
     ความเปลี่ยนแปลงในสองรูปแบบดังกล่าวที่เสริมต่อกัน มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้า การบริการและการลงทุนมากขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ เพื่อการผลิตและบริโภค ดังนั้น ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนควรเร่งทบทวนปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาและกฎหมายด้านการรองรับการค้าและการลงทุน ป้องกันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน(เช่น ปัญหาหมอกควัน ปัญหาขยะอิเล็กโทรนิกส์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น) ให้ความสำคัญต่อมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น เรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
     ในด้านที่สอง ต้องใช้โอกาสในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อดูแลการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างรูปธรรมของการดำเนินงานในด้านนี้ เช่น การศึกษาและจัดทำจุดยืนหรือท่าทีร่วมของอาเซียนในการเจรจาเวทีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม(ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก)การเพิ่มความเข้มแข็งและประสิทธิภาพกลไกของอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบและกลไกร่วมกันของอาเซียนเพื่อรับมือผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนและการปรับตัวการจัดตั้งตลาดคาร์บอนระดับอาเซียนที่เชื่อมโยงกับตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นต้น
     ในสถานการณ์ที่อำนาจรัฐถูกจำกัดและถูกถ่ายโอนไปยังองค์กรต่างๆ ทั้งระดับเหนือรัฐ และระดับต่ำกว่ารัฐ อำนาจของรัฐในการปกป้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติถูกจำกัดและพันธนาการด้วยข้อผูกมัดภายใต้ความตกลงด้านการค้าและการลงทุน การรวมกลุ่มของรัฐในระดับภูมิภาค (Regionalization) ที่เป็นกระแสเติบโตในช่วงทศวรรษนี้เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อดำรงรักษาสถานะและอำนาจของรัฐ ซึ่งควรถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยาธรธรรมชาติด้วย

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,937 วันที่ 6 - 9 เมษายน พ.ศ. 2557
ผู้เขียน: ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์......ผู้ประสานงานชุดโครงการ MEAs Think Tank
ภาพจาก : http://www.cpc.ac.th/

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com