กฎหมาย‘รายงานการปล่อยมลพิษ’ ปฏิรูปสู่‘อุตสาหกรรมสะอาด’ต้องมี


“อุตสาหกรรม” ภาคส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างสูง เป็น 1 ใน “2 เครื่องจักรเศรษฐกิจ” ควบคู่กับภาคการท่องเที่ยวมานับสิบปี สร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยจำนวนมาก เห็นได้จากรายงาน “ดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2560” จัดทำโดย “สภาพัฒน์” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในส่วนของ “ดัชนีด้านการงาน” พบว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ได้คะแนนมากที่สุด คือกรุงเทพฯ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยองและลำพูน ซึ่งอันดับ 2-5 นั้นล้วนเป็นที่ตั้งของ “นิคมอุตสาหกรรม” ทั้งสิ้น

หรือหากดูที่จำนวนแรงงานผู้เข้าถึงสวัสดิการประกันสังคม ระยอง กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยาและชลบุรี คือ 4 จังหวัดที่แรงงานมีประกันสังคมมากที่สุด เรียงอันดับ 1-4 ตามลำดับ นอกจากนี้ “ดัชนีด้านรายได้” พบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลกับหัวเมืองภาคตะวันออกอย่างฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ยังอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่แรงงานมีรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

แต่อีกมุมหนึ่ง “ทุกอย่างมีราคาต้องจ่าย” เพราะหากไปดู “ดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม” บรรดาจังหวัดที่มีโรงงานหรือสำนักงานมากๆ ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึง 2 จังหวัดรายได้สูงทางตะวันออกอย่างชลบุรีและระยอง อยู่ในอันดับค่อนไปทางท้ายๆ ของประเทศ อีกทั้งชลบุรียังถูกระบุด้วยว่าเป็น 1 ใน 5 จังหวัด ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศ

เรื่องนี้สอดคล้องกับผลการศึกษากรณี “สารพิษตกค้าง” ที่เปิดเผยในงานแถลงข่าวและการนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การสะสมของสารพิษตกค้างยาวนาน (Pollutant Release and Transfer Register: POPs) ในไข่ไก่และตัวอย่างสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม และวิเคราะห์ความคืบหน้าในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสต๊อกโฮล์มของประเทศไทย” ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ ที่เป็นความร่วมมือกันของ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ประเทศไทย กับ องค์กร Arnika ประเทศสาธารณรัฐเช็ก มีข้อค้นพบดังนี้

1.พื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บริเวณใกล้เคียงสถานที่ประกอบกิจการรีไซเคิลขนาดเล็กและโรงงานหล่อหลอมโลหะและอโลหะ ตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและสัตว์น้ำในพื้นที่นี้พบการปนเปื้อนสารไดออกซิน (Dioxin) และสารหน่วงการติดไฟ (BFRs) ในปริมาณสูง และพบสารไดออกซิน/ฟิวแรน (Furan) ประเภทโบรมีน (PBDD/Fs) สูงมากเป็นอันดับ 2 และสูงกว่าตัวอย่างที่เคยมีการศึกษาในประเทศอื่นๆ

รวมถึงยังมีการเก็บตัวอย่าง “ไข่ไก่” มาตรวจสอบ พบว่า 1 ใน 2 ของตัวอย่างที่วิเคราะห์มีการปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน = 84.04 นาโนกรัม/กิโลกรัม (นาโนกรัม WHO-TEQ/กิโลกรัมของไขมัน (ng WHO-TEQ/kg fat)) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรปถึง 33 เท่า และพบการปนเปื้อนสารไดออกซิน/ฟิวแรน รวมกับสารพีซีบี = 95.71 นาโนกรัม/กิโลกรัม ซึ่ง “สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสหภาพยุโรป (EU)” ถึง 19 เท่า

2.พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ตรวจพบสารหน่วงการติดไฟ (BFRs) และสารเฮกซะคลอโรเบนซีน (HCB) ในปริมาณสูงจากบางพื้นที่ที่เก็บตัวอย่าง และ3.พื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พบว่าไข่ไก่มีการปนเปื้อนสารกลุ่มพีเอเอช (PAHs) ในระดับสูง ซึ่งเป็นไข่ไก่จากชุมชนที่ “ใช้ขี้เถ้าผสมดินที่โรงงานนำมาแจกจ่าย” ให้ชาวบ้านใช้เป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่นี้

สารเหล่านี้มีอันตรายอย่างไร? ตัวอย่างเช่น สารไดออกซิน/ฟิวแรน ส่งผลกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีผลกระทบต่อระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็ก อันตรายต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ส่งผลให้ระบบการย่อยและเผาผลาญผิดปกติ รวมถึงการขัดขวางการทำงานปกติของต่อมไร้ท่อ และมีบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง กลุ่มของสารหน่วงการติดไฟที่มีโบรมีนเป็นองค์ประกอบ (BFRs) มีบางชนิดเป็นสารพิษที่อันตรายต่อระบบประสาท และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กผิดปกติ อาทิ โรคสมาธิสั้น (ADHD) เป็นต้น

ยินดิช เพทร์ลิค (Jindrich Petrlik) ผู้อำนวยการโครงการสารพิษและของเสีย องค์กร Arnika ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยเรื่องดังกล่าว ระบุว่า ผลการศึกษานี้ “บอกถึงการปนเปื้อนสารไดออกซิน และสารพีซีบีที่คล้ายไดออกซิน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ค่อนข้างชัดเจน และควรมีการช่วยเหลือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ” โดยเฉพาะการติดตามต่อเนื่องถึงผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของเด็กในพื้นที่นี้

ขณะที่ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสต๊อกโฮล์ม โดยประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 15 พ.ค. 2550 แต่จนวันนี้พบว่า ตัวชี้วัด ทั้ง 8 ประกอบด้วย 1.ลดการปลดปล่อยสารไดออกซินและฟิวแรน จากแหล่งกำเนิดอันเกิดจากมนุษย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเป้าหมายสูงสุดในการเลิกการปลดปล่อย 2.มีศูนย์ปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ไดออกซินและฟิวแรน 3.มีฐานข้อมูลการปลดปล่อยไดออกซินและฟิวแรนที่สมบูรณ์

4.มีกลไก Pollutant Release and Transfer Register (PRTR) ใช้ในประเทศ 5.คนไทยมีความตระหนักถึงพิษภัยอันตรายของสารไดออกซินและฟิวแรน 6.อุตสาหกรรมภายในประเทศไทยใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุดและแนวการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด 7.มีกฎหมายควบคุมการปลดปล่อยสารไดออกซินและฟิวแรนจากแหล่งกำเนิดทุกประเภท และ 8.ได้ผลงานวิจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจเนื่องจากการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน แต่พบว่า “มีเพียงตัวชี้วัดที่ 2 เท่านั้นที่เกิดผลเป็นรูปธรรม” ขณะที่ตัวชี้วัดที่ 5-6 ไม่แน่ชัด และตัวชี้วัดที่ 1 , 3-4 , 7 , 8 ยังไม่มี

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายปล่อยสาร POPs โดยไม่ตั้งใจ แยกประเภทโดยกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ประกอบด้วย ลำดับที่ 38 การผลิตกระดาษ, ลำดับที่ 42 อุตสาหกรรมเคมีที่ไม่ใช่ปุ๋ย, ลำดับที่ 49 การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, ลำดับที่ 50 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ถ่านหิน ลิกไนต์, ลำดับที่ 53 อุตสาหกรรมผลิตพลาสติก, ลำดับที่ 57 อุตสาหกรรมผลิตปูนและซีเมนต์

ลำดับที่ 59 กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็กหรือเหล็กกล้า, ลำดับที่ 60 กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโลหะอื่นๆ, ลำดับที่ 88 โรงผลิตกระแสไฟฟ้า, ลำดับที่ 101 การกำจัดของเสีย ทั้งเผาขยะและบำบัดน้ำเสีย, ลำดับที่ 105 การคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล และลำดับที่ 106 การนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรมมาแปรรูปเพื่อผลิตเป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการรีไซเคิล ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้จะมี “โครงการนำร่องให้บริษัทต่างๆ รายงานการปล่อยสารพิษ (PRTR)” มาตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

โดยความร่วมมือระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมควบคุมมลพิษ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) กำหนดให้โรงงานต่างๆ ในพื้นที่มาบตาพุด ต้องรายงานการปลดปล่อยมลพิษ แต่พบว่า 1.เป็นเพียงโครงการภาคสมัครใจ ทำให้มีโรงงานเพียงจำนวนน้อยที่ให้ความร่วมมือ กับ 2.ยังไม่มีการขยายไปยังพื้นที่อื่น ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมลักษณะเดียวกัน

เพ็ญโฉม ฝากประเด็นทิ้งท้ายถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จากการสำรวจและประเมินโครงการนำร่องที่มาบตาพุด “ร้อยละ 80.50 ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เห็นด้วยว่าควรมีกฎหมายให้รายงานการปล่อยมลพิษ หรือ PRTR บังคับใช้” โดยหากแยกเป็นความเห็นของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จะเห็นด้วยถึงร้อยละ 90.91 ความเห็นของผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ เห็นด้วยร้อยละ 69.17 และความเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เห็นด้วยร้อยละ 93.18

เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วย ก็น่าจะต้องเร่งตรากฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อยกระดับวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สะอาดขึ้น!!!

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 ธันวาคม 2560

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com