เวียดนามมีแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงปี 2030 ทำข้อเสนอพลังงานสะอาดของ G7 สะดุด


รอยเตอร์ - จากเอกสารของรัฐบาลที่รอยเตอร์ได้เห็นพบว่าในร่างแผนพลังงานฉบับแก้ไข เวียดนามได้เพิ่มเป้าหมายการใช้พลังงานจากถ่านหินสำหรับปี 2030 ขณะที่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนถูกปรับลดขนาดลง ความเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อโครงการระดมทุนเพื่อพลังงานสะอาดของประเทศร่ำรวย

ร่างแผนพลังงานฉบับปรับปรุงล่าสุด ลงวันที่ 11 พ.ย. และเผยแพร่โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของเวียดนาม มีขึ้นในขณะที่ผู้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศจากกลุ่ม G7 ล้มเหลวที่จะบรรลุข้อตกลงทางการเงินกับเวียดนามในการเป็นหุ้นส่วนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP27 ที่สิ้นสุดลงในอียิปต์เมื่อวันอาทิตย์

ร่างแผนพลังงานฉบับล่าสุดเปลี่ยนเป้าหมายของร่างที่เพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อเดือนก่อนที่จะชะลอการเติบโตในการใช้ถ่านหินภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งการลดลงอย่างมีความหมายของกำลังการผลิตถ่านหินจะเกิดขึ้นในปี 2045 เท่านั้น

เวียดนาม ที่เป็นหนึ่งในผู้ใช้ถ่านหิน 20 อันดับแรกของโลก ได้เห็นการถกเถียงยืดเยื้อในหมู่รัฐบาลต่างๆ เกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานสำหรับทศวรรษนี้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในสัปดาห์และเดือนข้างหน้า ซึ่งสิ่งนี้จะเพิ่มความซับซ้อนให้งานของผู้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ นำโดยนักการทูตของสหภาพยุโรป ที่หวังจะบรรลุข้อตกลงกับเวียดนามในระหว่างการประชุมสุดยอดในกรุงบรัสเซลส์เดือนหน้า

ภายใต้สถานการณ์ล่าสุดของรัฐบาลเวียดนาม ถ่านหินจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของประเทศไปจนกระทั่งปี 2030 ด้วยกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 36 กิกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ 11 แห่ง ที่จะสร้างขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 21 กิกะวัตต์ในปี 2020 และ 30 กิกะวัตต์ในปี 2025

อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งกำลังการผลิตพลังงานถ่านหินจะลดลงเหลือน้อยกว่า 28% ภายในสิ้นทศวรรษ จาก 34% ในปี 2020

ในร่างแผนพลังงานเดือน ต.ค. รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าที่จะจำกัดการผลิตจากพลังงานถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 30 กิกะวัตต์ภายในสิ้นทศวรรษ ตามเอกสารที่รอยเตอร์ได้เห็น

ทั้งนี้ การใช้ถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียในปลายเดือน ก.พ. ที่ยังส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่งสูง


การผลิตพลังงานหมุนเวียนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในตอนนี้ ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นเพียง 21 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 ในแผนฉบับล่าสุด เทียบกับร่างแผนเดือน ต.ค. ที่ตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้น 26-39 กิกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณคาดว่าจะอยู่ในช่วงกลางศตวรรษ ด้วยกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 200 กิกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม แสงอาทิตย์ และไฮโดรเจน ตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่รวมพลังน้ำ ที่เป็นแหล่งพลังงานหลักดั้งเดิมในเวียดนาม

“พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมพัฒนาขึ้นเร็วมากในเวียดนาม และสิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากโครงข่ายพลังงานของประเทศมีจำกัด” เอกสาร ระบุ

ภายในปี 2050 ถ่านหินจะไม่เป็นส่วนหนึ่งในแผนพลังงานผสมผสานของเวียดนามอีกต่อไป ในขณะที่ก๊าซและก๊าซธรรมชาติเหลวจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเป็น 44 กิกะวัตต์

การปล่อยคาร์บอนของเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคนแห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เว้นแต่ประเทศจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนและแหล่งพลังงานอื่นๆ ที่ก่อมลพิษน้อยกว่าโดยเร็ว

เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปและผู้เจรจาของชาติตะวันตกอื่นๆ หวังให้เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ที่ตกลงเกี่ยวกับแผนการระดมทุนเพื่อเร่งการลดการใช้ถ่านหิน หลังข้อตกลงคล้ายกันนี้บรรลุกับแอฟริกาใต้เมื่อปีก่อน

สหภาพยุโรป ที่เป็นผู้นำการเจรจาในนามของกลุ่มประเทศ G7 ร่วมกับอังกฤษ ได้พิจารณาข้อตกลงที่เป็นไปได้ที่การประชุมสุดยอด COP27 ตามที่ระบุในเอกสารภายในที่รอยเตอร์ได้เห็น

แต่ชุดข้อเสนอที่ปรับปรุงใหม่มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ ล้มเหลวที่จะโน้มน้าวผู้เจรจาของเวียดนาม ที่แหล่งข่าวทางการทูตและอุตสาหกรรมระบุว่า เวียดนามต้องการเงินช่วยเหลือมากขึ้นและควบคุมวิธีการเบิกจ่ายทุนมากขึ้น

ในขณะที่เวียดนามยังไม่มีความคืบหน้า แต่อินโดนีเซียก้าวไปสู่การประกาศข้อตกลงกับประเทศร่ำรวยเกี่ยวกับการระดมทุนสำหรับการเปลี่ยนจากถ่านหินที่การประชุมสุดยอด G20 ในบาหลี

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับข้อตกลงกับเวียดนามที่การประชุมสุดยอดกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือน ธ.ค. ที่กรุงบรัสเซลส์.

ที่มา : MNG ONLINE วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com