กรีนพีซเสนอแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศต่อแคนดิเดตผู้ว่า กทม.


กรุงเทพฯ, 9 พฤษภาคม 2565 – ในวาระการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทยนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals)” ต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง [1] โดยพิจารณาถึงแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเริ่มดําเนินการในปี 2565 ไปจนถึงปี 2573 [2]

แม้ว่าแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ไม่ได้เป็นประเด็นหลักของการหาเสียงของแคนดิเดตแต่ละคน แต่แผนปฏิบัติการเหล่านี้คือบททดสอบความเป็นผู้นําของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ที่มาจากการเลือกตั้งว่าจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่พร้อมรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามวิสัยทัศน์ที่ระบุไว้หรือไม่อย่างไร

ดัชนี Climate Change City Index 2050 [3] ที่ศึกษาเมืองทั่วโลกที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศมากที่สุดใน 3 ด้านคือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (potential sea level rise impact) สภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Shift) และวิกฤตน้ำ (Water Shortage) พบว่ากรุงเทพมหานคร ได้คะแนนผลกระทบเต็ม 100

ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ประสานงานการปฏิวัติเมืองยั่งยืน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อทําให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีบทบาทสําคัญในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศภายในระยะเวลา 4 ปี และกรอบเวลาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกต้ังและคณะผู้บริหารเมืองจะต้องมีเจตจํานงทางการเมือง (Political Will) ที่แรงกล้า”

โดยการวิเคราะห์ช่องทางและความเป็นไปได้ตามอํานาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารที่ดําเนินการได้ผ่านกระบวนการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรของ กรุงเทพมหานคร กรีนพีซ ประเทศไทย เสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดขึ้นได้ภายใน กรอบระยะเวลา 4 ปี ใน 3 ด้านดังนี้

  • ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองปลอดฝุ่น ตัวชี้วัดการปล่อยมลพิษทางอากาศของมลพิษ PM 2.5 เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของเป้าหมายที่ 11 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งมุ่งที่จะ “ทําให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน” มลพิษทางอากาศในภาพรวมยังมีความเชื่อมโยงที่สลับซับซ้อนกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หากปฏิบัติการเพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ รวมถึงมลพิษ PM2.5 สัมฤทธิ์ผล เราก็จะมีแนวทางเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ง่ายและชัดเจนขึ้น ด้วยการนําร่องใช้ค่าแนะนําคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กําหนดไว้ 15 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตรสําหรับค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง และ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสําหรับค่าเฉลี่ยรายปี เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และติดตามภาวะการเจ็บป่วยจากฝุ่น PM2.5 และกําหนดนโยบาย และแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน และกำหนดพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมสร้างสรรค์หรือ แซนด์บ็อกซ์(sandbox) เป็นเขตพื้นที่ปลอดฝุ่นเพื่อเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาฝุ่นที่จะเป็นทางออกของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
  • ปฎิวัติขยะเหลือศูนย์ กรีนพีซ ประเทศไทย เสนอให้กรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายลดขยะลง ¾ ภายในปี 2568 ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้กรุงเทพมหานครไม่จําเป็นต้องสร้างโรงงานเผาขยะ/ โรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้น ลดความจําเป็นในการฝังกลบขยะกว่า 2.7 ล้านตันต่อปีและ สร้างงานที่ยั่งยืนและมีคุณค่าให้กับชุมชนที่ดําเนินการ ด้วยการเปลี่ยนจากระบบการจัดการขยะ ที่รวมศูนย์อํานาจและ ผูกติดกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า เป็นพัฒนาระบบจัดการขยะ ที่มีขนาดเล็กลง โดยมีระบบแยกขยะขึ้นแยกวัสดุที่เก็บรวบรวมได้ออกจากกันตามลักษณะเฉพาะ เพื่อดึงวัสดุเหล่านั้นออกจากการเก็บขนเพื่อไปกําจัดปลายทางและนํากลับมาใช้ตามคุณค่าที่แท้จริง ในช่วงเวลาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกคือหัวใจหลักของการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ลดขยะ ¾ ภายในปี 2568 จะทําให้กรุงเทพมหานครมีบทบาทสําคัญในฐานะ ผู้นําอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมือง จากการประมาณในกรณีที่มี การดําเนินงาน “ลดขยะ ¾ ภายในปี 2568”  กรุงเทพมหานครจะสามารถลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกจากภาคการจัดการขยะลงได้มากถึง 2,303,313 ตัน CO2 เทียบเท่า คิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีไม่มีการดําเนินการใด ๆ
  • มหานครพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด กรีนพีซ ประเทศไทยเสนอให้มีการติดตั้งระบบ solar rooftop เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายที่หนึ่งอาคารภายใต้การกํากับของกรุงเทพมหานคร สามารถผลิตไฟฟ้าจาก โซลาร์รูฟท็อปรวม 15.16 เมกะวัตต์และกลุ่มเป้าหมายที่สอง ครัวเรือนและสถาน ประกอบการเอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 785 เมกะวัตต์ โดยอาจสนับสนุนประชาชนได้หลายแนวทาง เช่น ตั้งกองทุนและออกพันธบัตร (Green Bond) เพื่อสนับสนุนการติดตั้ง และขอโควต้าพิเศษระบบแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) สําหรับบ้านที่ติดแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เกิน 1.5 กิโลวัตต์ เป็นต้น รวมทั้ง 2 กลุ่ม จะผลิตได้ 800 เมกะวัตต์ซึ่งจะทําให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลงมากถึง 584,000 ตันต่อปีเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดูดซับโดยป่าสมบูรณ์ ขนาด 96,000 ไร่

www.greenpeace.or.th

หมายเหตุ

[1] ดูรายละเอียดข้อเสนอของ “กรีนพีซ” ว่าด้วยแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ที่มาจากการเลือกตั้ง” https://www.greenpeace.org/thailand/publication/23500/climate-greenpreace-proposal-new-bkk-governor

[2] แผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเริ่มดําเนินการในปี 2565-2573 https://onedrive.live.com/?authkey=%21AGantjacKjFLt2A&cid=F83EBF516B36062D&id=F83EBF516B36062D%218268&parId=F83EBF516B36062D%218101&o=OneUp

[3] https://www.nestpick.com/2050-climate-change-city-index/ 

ที่มา :  Greenpeace Thailand  วันที่ 9 พฤษภาคม 2565

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com