สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2564 เรื่องรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย)


คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                  ผผ. รายงานว่า
                  1. ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทยได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิตในทะเลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ซึ่งจากการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น 1) จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 - 2564 2) จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 โดยตั้งเป้าหมายในการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ๊อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562 3) ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดและแก้วพลาสติกแบบบางประเภทใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 ตลอดจนนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 และ 4) จัดทำข้อตกลงร่วมกับภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อทั่วประเทศกว่า 75 บริษัท ในการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ให้แก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2563 ซึ่งจากการดำเนินการข้างต้นส่งผลให้ประเทศไทยสามารถปรับอันดับจากประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10 ได้สำเร็จ และลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ คิดเป็น 228,820 ตัน
                  2. แม้ว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกในทะเลไทยมีผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่การจัดการขยะพลาสติกยังจำเป็นต้องมีการบูรณาการของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ทั้งนี้ ผลจากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุของปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทยที่สำคัญมีดังนี้

สาเหตุ

2.1 การจัดการขยะพลาสติก

ปัญหา : ประเทศไทยยังขาดการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบริโภค และการจัดการปลายทางเนื่องจากคุณสมบัติของพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จึงถูกนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อทดแทนวัสดุอื่นมากขึ้น ไม่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และพลาสติกจึงยังเป็นที่ต้องการของตลาดในปริมาณมากในขั้นตอนการบริโภค เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติก อีกทั้งในปัจจุบันผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการส่งอาหาร และการสั่งซื้อด้วยระบบออนไลน์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์จากกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้น ตลอดจนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่แพร่หลายและมีราคาแพงในขั้นตอนการจัดการปลายทางหลังจากบริโภค

2.2 การขาดจิตสำนึกของประชาชน

ปัญหา : การบริหารจัดการขยะของประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร คือ ประชาชนขาดจิตสำนึกในการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยังพบปัญหาการไม่ทิ้งขยะตามจุดที่หน่วยงานจัดไว้ให้ และการขาดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ โดยประชาชนยังขาดความตระหนักถึงผลเสียของการไม่คัดแยกขยะที่จะทำให้ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เกิดการปนเปื้อน และยังมีความเข้าใจว่า แม้ตนเองจะคัดแยกขยะในครัวเรือน แต่สุดท้ายขยะจะถูกนำไปรวมปะปนกันในขั้นตอนการเก็บขน จึงไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

                    3. ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 230 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 22 (3) และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พร้อมข้อเสนอแนะ เรื่อง ขยะพลาสติกในทะเลไทย ดังนี้

ข้อเสนอแนะ

1) ให้มีการนำระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกมาใช้

สาระสำคัญ : การมัดจำค่าขวดพลาสติกเป็นมาตรการหนึ่งที่ต่างประเทศนำมาใช้ในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดพลาสติกมาคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล โดยค่ามัดจำขวดจะกำหนดรวมอยู่ในราคาสินค้า ดังนั้น ไทยควรศึกษาถึงกระบวนการและนวัตกรรมเครื่องรับคืนขวดเพื่อนำมาปรับใช้ต่อไป

2) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สาระสำคัญ : รัฐควรสนับสนุนการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมุ่งเน้นธุรกิจบริการส่งอาหาร และการสั่งซื้อสินค้าด้วยระบบออนไลน์อาจทำให้การลดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ทำได้ค่อนข้างยาก โดยอาจใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การลดหย่อนภาษี การยกเว้นภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การให้สินเชื่อที่มีเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้ประกอบการที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม ในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

สาระสำคัญ : ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว เช่น การลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี

4) ให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต

สาระสำคัญ : ประเทศญี่ปุ่นและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีการบังคับใช้กฎหมายโดยกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ตนผลิต หรือจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับองค์กรที่ดำเนินการแทน กฎหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตลดการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ให้น้อยชิ้นที่สุด ดังนั้น หากไทยมีการออกกฎหมายดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการเก็บ ขน และกำจัดขยะของ อปท. ที่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการขยะได้ไม่คุ้มต้นทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน

5) ให้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนในฐานะผู้ทำให้เกิดขยะมีหน้าที่ในการคัดแยกขยะ

สาระสำคัญ : การขาดจิตสำนึกของประชาชนเป็นปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการขยะของไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น การออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนในฐานะผู้ทำให้เกิดขยะมีหน้าที่ในการคัดแยกขยะควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกอาจมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้

6) ให้ อปท. พัฒนาการดำเนินงานในการเก็บ ขน และกำจัดขยะ ให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยเฉพาะ “ทางน้ำ” ในเขตพื้นที่

สาระสำคัญ : อปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตพื้นที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ควรมีการพัฒนาการเก็บ ขน และกำจัดขยะให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และควรดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วถึงเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยเฉพาะ “ทางน้ำ” เนื่องจากหากมีการจัดเก็บ และกำจัดขยะในแม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนท่อระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลให้ปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่จะไหลลงสู่ทะเลลดน้อยลงด้วย

7) ให้มีการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้าง

สาระสำคัญ : อปท. ในหลายพื้นที่ประสบปัญหาพื้นที่ในการทำหลุมฝังกลบขยะไม่เพียงพอ การเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการกำจัดขยะ โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ดังนั้น รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อชุมชนรอบข้างโรงไฟฟ้ามากที่สุด

8) ให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดให้มีเรือเก็บขยะเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในจังหวัดชายฝั่งทะเล และส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดเก็บขยะในน้ำเพื่อให้เรือเก็บขยะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล อย่างมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญ : รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดให้มีเรือเก็บขยะเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล (ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีเรือเก็บขยะ 2 ลำ ประจำการอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองและพังงา ที่ผ่านมาประสบปัญหาการขนขยะจากเรือขึ้นบนฝั่ง เนื่องจากเรือดังกล่าวไม่มีเครนที่ใช้ยกขยะขึ้นฝั่ง) ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังเครื่องยนต์ของเรือ รูปแบบของเรือ การเพิ่มเครนยก หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เรือเก็บขยะสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

9) ให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการการจัดการขยะพลาสติกกับองค์กรภาคเอกชนและประชาชน ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดการใช้พลาสติกและการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี

สาระสำคัญ : นอกจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือประชาชน ในการจัดการขยะที่มีความเป็นเอกภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ควบคู่กับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการใช้พลาสติก การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ที่มา : http://www.thaigov.go.th

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com