ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2563 เมื่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อให้เกิดโรคโควิดไนน์ทีน (COVID-19) ขยายวงกว้างขึ้น หลายประเทศแก้ไขและรับมือด้วยการปิดเมือง งดการเดินทางขนส่ง ออกมาตรการให้ประชาชนเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อป้องกันการเสี่ยงสัมผัสระหว่างกัน แม้จะเป็นเรื่องอึดอัดคับข้องกายใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าธรรมชาติมีความลิงโลดได้ฟื้นฟูเยียวยาตัวเองโดยที่ไร้มนุษย์มาข้องแวะ
ล่าสุด มีรายงานในวารสารการวิจัยด้านธรณีฟิสิกส์ จากนักวิทยาศาสตร์ของ National Center for Atmospheric Research (NCAR) หน่วยงานวิจัยและศึกษาชั้นบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากบอลลูนตรวจสภาพอากาศและเครื่องมือตรวจจับระยะไกล ที่ได้มาจากสถานี 45 แห่ง โดย 3 แห่งเป็นสถานีที่ดูแลจัดการโดยหน่วยงาน NCAR ส่วนที่เหลือคือหอดูดาวหลายแห่ง พบว่าในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของปีที่ผ่านมา บรรยากาศชั้นโอโซนที่ระยะทาง 1-8 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก มีการลดลงโดยเฉลี่ย 7% ทางซีกโลกเหนือ เป็นการลดปริมาณโอโซนลงอย่างมากในภูมิภาคที่ใหญ่มาก และครั้งสุดท้ายที่โอโซนในโทรโพสเฟียร์ หรือโอโซนที่เกิดใกล้พื้นผิวโลก และเป็นที่อยู่ของก๊าซที่อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เช่น ก๊าซเรือนกระจก มีปริมาณลดลงแบบเดียวกันนี้ เคยเกิดขึ้นที่เมืองโฮเฮนไพเซนแบร์ก ในเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ.2519
การวิจัยใหม่เชื่อว่าการลดลงของโอโซนอาจอธิบายได้จากการคมนาคมขนส่งที่ลดลง เนื่องจากมนุษย์เก็บตัวในบ้านงดการเดินทางสัญจรในช่วงโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ นักวิจัยยังระบุว่าการปล่อยมลพิษบนพื้นผิวโลกลดลง 14%.
ภาพ หลุมโอโซนปี 2562 Credit : NASA
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564