สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่องเอกสารถ้อยแถลงเพื่อดำเนินงาน (Statement of Undertaking : SoU) ของกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Nitric Acid Climate Action Group : NACAG)


คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อเอกสารถ้อยแถลงเพื่อการดำเนินงาน (Statement of Undertaking : SoU) ของกลุ่มดำเนินงานด้านกรดไนตริกเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Nitric Acid Climate Action Group : NACAG) โดยเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนประเทศไทยลงนามในเอกสารดังกล่าว มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กลุ่ม NACAG ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับเอกสาร SoU และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำผลการลดก๊าซไนสตรัสออกไซด์จากสถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NACAG ไปใช้เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC) ของประเทศไทย และไม่นำไปใช้ในแนวทางความร่วมมือที่อ้างถึงในวรรค 2 หรือกลไกที่อ้างถึงในวรรค 4 ของข้อ 6 ของความตกลงปารีส  ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

                  เอกสาร SoU ของกลุ่ม NACAG มีรายละเอียด ดังนี้

                  1. ยืนยันต่อวัตถุประสงค์ของกลุ่ม NACAG ที่มุ่งยุติการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และประเทศไทยตกลงที่จะดำเนินการภายใต้พันธกรณีหลังปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) ที่จะออกแบบและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นใจว่า สถานประกอบการผลิตกรดไนตริกทั้งหมดในประเทศไทย ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 (ค.ศ. 2024) จะคงติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากวงจรการผลิตที่มีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจะจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อติดตามและรายงานการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในสถานประกอบการดังกล่าวทั้งหมด (สำนักเลขาธิการ NACAG เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายการติดตั้งเทคโนโลยี) และสถานประกอบการผลิตกรดไนตริกที่ก่อตั้งภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 จะมีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เช่น กฎหมายกรอบแรงจูงใจ ข้อตกลงโดยสมัครใจ เป็นต้น เพื่อให้มีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จากวงจรการผลิตที่มีประสิทธิผล รวมถึงจะจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อติดตามและรายงานการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในสถานประกอบการดังกล่าว (สถานประกอบการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเทคโนโลยีเอง)

                  2. ให้คำมั่นว่าภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2566 (ค.ศ. 2023) ผลการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ในประเทศไทยที่ดำเนินการภายใต้สถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NACAG ต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการชดเชยคาร์บอนระหว่างประเทศหรือการซื้อขายคาร์บอนระหว่างประเทศในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นตลาดที่มีกฎระเบียบบังคับหรือโดยสมัครใจ แต่สามารถใช้สำหรับการชดเชยคาร์บอนภายในประเทศหรือการซื้อขายคาร์บอนภายในประเทศได้

                  3. ให้คำมั่นว่าการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์จะยังคงอยู่ในขอบเขตของ NDC ต่อไป และผลการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ในประเทศไทยที่ดำเนินการภายใต้สถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NACAG จะถูกนำไปใช้เฉพาะส่วนของเป้าหมาย NDC ของประเทศไทยเท่านั้น

                  4. ให้คำมั่นว่าผลการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ในประเทศไทยที่ดำเนินการภายใต้สถานประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NACAG ต้องไม่ถูกใช้ภายใต้แนวทางความร่วมมือที่อ้างถึงในวรรค 2 หรือในกลไกที่อ้างถึงในวรรค 4 ของข้อ 6 ของความตกลงปารีส

                  ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ   เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในการแสดงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม NACAG และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก

ที่มา : http://www.thaigov.go.th

สงวนลิขสิทธิ์ © 1995-2015 สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.).
8/16 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กทม. 10200
โทรศัพท์ 0 2280 1812 , 0 2280 6228 , 0 2280 0557 , 0 2628 6438
โทรสาร 0 2282 8877
e-mail: gseiorth@gmail.com